“กรีนพีซ ประเทศไทย” บุกแสดงสัญลักษณ์ข้างที่จัดประชุม APEC 2022 ลงน้ำชูป้ายเรียกร้องเอเปก หยุดฟอกเขียวให้กลุ่มทุนที่เพิกเฉยต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม
จากกรณีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 หรือ APEC 2022 ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. 2565 ล่าสุด ผู้สื่อข่าวมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านการจัดประชุม โดยวันนี้ (11 พ.ย. 2565) กลุ่มกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ซึ่งเป็นองค์กรเรียกร้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณบึงน้ำของสวนเบญจกิติ ซึ่งใกล้กับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก เพื่อส่งข้อความถึงบรรดาผู้นำประเทศที่กำลังจะเดินทางมาประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก 2565 ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ นักกิจกรรมของกรีนพีซได้ลงไปชูป้ายในน้ำ โดยมีข้อความในทำนองว่า “เอเปค หยุด! ฟอกเขียว” และ “ผู้ก่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศต้องชดใช้ความสูญเสียและความเสียหาย” และมีการเผยแพร่ภาพและข้อความทั้งหมดลงบนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมระบุด้วยว่า การแสดงออกครั้งนี้เป็นช่วงเดียวกันกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 หรือ COP27 ที่สาธารณรัฐอียิปต์
...
ทางด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลไทยระบุว่า BCG นำเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อต่อกรกับวิฤติสภาพภูมิอากาศ แต่เราเห็นข้อบกพร่องและช่องโหว่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย ซึ่งใช้สิ่งแวดล้อมเป็นกลลวงในการฟอกเขียว โมเดลเศรษฐกิจ BCG ละเลยที่จะไม่กล่าวถึงภาระความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil fuel) และผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศ แล้วเราจะเรียกร้องการชดใช้ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนได้อย่างไร แทนที่จะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เป็นธรรม และยั่งยืนเต็มร้อย โมเดลเศรษฐกิจ BCG กลับสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาที่ผิดพลาด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากขยะ (โรงไฟฟ้าขยะ) เป็นต้น และออกระเบียบหรือแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรคาร์บอนเครดิตแก่เอกชนผู้ลงทุนปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ หากยังดำเนินการต่อจะนำไปสู่การบังคับขับไล่ชุมชนออกจากที่ดินทำกิน ทำให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาผืนดินและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นอาชญากรทางสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในเดือน ม.ค. 2564 ให้เป็นวาระแห่งชาติ อาจกล่าวได้ว่า BCG คือกลไกประสานสารพัดนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และเป็นเครื่องจักรหลักขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กรีนพีซยังชี้ให้เห็นถึงคณะกรรมการบริหารและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วยชนชั้นนำและกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง หรือ โอลิการ์ก (Oligarch) ที่ดำเนินธุรกิจที่ห่างไกลจากคำว่ายั่งยืน และมักทำการฟอกเขียวเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ก่อขึ้น
“เราต้องการเห็นสังคมไทยฝ่าฟันสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากเย็นแสนเข็ญซึ่งถูกคุกคามจากวิฤติสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง เราต้องการระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่แบ่งแยกและเอื้อให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจอย่างเป็นธรรม เศรษฐกิจที่พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง และส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการฟื้นคืนจากวิกฤติที่ถาโถมเข้ามา”
ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุต่อไปว่า ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบระยะยาวจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลก แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 แต่ยังห่างไกลต่อเป้าหมายตามความตกลงปารีส ยิ่งไปกว่านั้นแทบไม่ปรากฏมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวที่ออกแบบเพื่อต่อกรกับภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ มีเพียงแต่วิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ซึ่งผลักดันโดยกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่มีกลไกของรัฐบาลหนุนหลัง.