ปมเปิดประเทศให้สิทธิ์ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่ ใช้อยู่อาศัยแลกกับการลงทุน 40 ล้านบาท อย่างน้อย 3 ปียังเป็นประเด็นร้อนหยิบยกมาถกเถียงคัดค้านกันทั้งในรัฐสภา และภาคประชาชนกันต่อเนื่องนับแต่ “ครม.” เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินฯ ดึงดูดคนมีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย
กลายเป็นความกังวลว่าต่างชาติครองที่ดินนำไปเก็งกำไร “จนคนไทยเข้าถึงยาก” กระทั่งล่าสุด “ครม.ทนแรงต้านไม่ไหวยกเลิกกฎหมายนี้” เพื่อนำกลับไปรับฟังความเห็นปรับปรุงให้เข้มงวดขึ้น รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ บอกว่า
จริงๆแล้วมาตรการนี้ “ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช่วยดึงดูดการย้ายถิ่นฐานผู้มีศักยภาพสูงได้น้อย” ส่วนใหญ่ผลบวกมักจะเกิดกับ “ตลาดการเงิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่” เพราะการได้สิทธิ์ในการซื้อที่ดินนั้นไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักให้ต่างชาติผู้มีศักยภาพย้ายถิ่นฐานมาทำงาน และอยู่อาศัยในประเทศไทย
ดังนั้น ควรประเมินให้รอบคอบรัดกุมพิจารณาว่า “นโยบาย หรือมาตรการเปิดกว้างให้ต่างชาติซื้อที่ดินนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร” เพราะไม่สามารถพิจารณานโยบาย หรือมาตรการแยกออกจากบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้นๆ จึงต้องนำมาพิจารณาร่วมกับนโยบายสาธารณะอื่นด้วย
หนำซ้ำการออกกฎกระทรวงภายใต้กฎหมายเดิมของรัฐบาลล่าสุดนี้ “น่าจะมีผลดีระยะสั้น” อันจะนำมาสู่ผลกระทบเสียหายทั้งคาดการณ์ได้ และสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ระยะยาวค่อนข้างมาก
...
เนื่องจาก “มาตรการไม่เข้มงวดมีการศึกษาเศรษฐกิจที่ดินน้อย” ไม่ว่าจะเป็นการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระบวนการเป็นเมือง การขยายตัวหมู่บ้านจัดสรร และอุตสาหกรรมเบียดแย่งพื้นที่ภาคเกษตรกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงที่ดินในกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ การปฏิรูปที่ดิน ภาษีที่ดิน ความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมด้านที่ดิน
เช่นนี้หาก “ไม่มีงานวิจัยและองค์ความรู้” การกำหนดนโยบายสาธารณะใดๆ ย่อมมีข้อผิดพลาดไม่สมบูรณ์ สร้างปัญหาระยะยาวได้เสมอ ดังนั้นควรนำเรื่องนี้กลับไปทบทวน และศึกษาให้รอบคอบกันเสียก่อน
ทว่าความเห็นต่อ “การเปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดิน และรับผู้มาตั้งถิ่นฐานใหม่นี้” ต้องรักษาสมดุลระหว่างโลกาภิวัตน์การเปิดกว้างเสรีกับอธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมือง และผลกระทบต่อคนไทยที่เป็นฐานราก
เพราะตราบใด “มนุษยชาติและสังคมไทย” ไม่อาจพัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้ชีวิตบนท้องฟ้า หรือใต้ทะเลได้ “ทรัพยากรที่ดิน” ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อ “ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และอารยธรรมของเรา” เพื่อการทำการเกษตรผลิตอาหารจากผืนดิน อันเป็นที่ตั้งทางกายภาพและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภท
ประการนี้ทุกประเทศจึงต่างปกป้องหวงแหนผืนดิน และอาณาเขตดินแดนของตัวเอง “มีกระบวนทัศน์ที่ดินที่วิวัฒนาการต่อเนื่อง” ทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์มนุษย์กับที่ดิน หรือความสัมพันธ์รัฐกับเขตดินแดนจนกลายเป็นระบบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจกบุคคล พัฒนามาจากยุคศักดินาสู่ยุคทุนนิยม และทุนนิยมโลกาภิวัตน์
ส่วนประเทศสังคมนิยมเข้ม “รัฐเป็นเจ้าของที่ดิน” ปัจเจกบุคคล และเอกชนก็เป็นเจ้าของที่ดินไม่ได้
ทว่า “กระแสโลกาภิวัตน์ เปิดเสรี เปิดกว้าง และแนวคิดชาตินิยม กรอบความคิดอธิปไตยทางเศรษฐกิจการเมือง การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการตั้งถิ่นฐานใหม่” ล้วนส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรที่ดินแบบใหม่ เพราะการดึงดูดการลงทุน หรือการแข่งขันชิงทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูงให้มาตั้งถิ่นฐานในประเทศนั้น
ไม่จำกัดเพียงสินค้าบริการโลกาภิวัตน์ตลาดการเงินเท่านั้น แม้ในอดีต “ตลาดอสังหาริมทรัพย์” มักซื้อขายเปลี่ยนมือในประเทศ “อันเป็นตลาดท้องถิ่น” ก็พัฒนาเป็นตลาดระหว่างประเทศและตลาดไร้พรมแดนมากขึ้น
ผลตามมา “กฎระเบียบตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ทัน” ทำให้เส้นเขตแดนประเทศจางลง “เกิดช่องโหว่บังคับใช้กฎหมาย” แม้หลายประเทศไม่เปิดให้ต่างชาติซื้อขายที่ดินได้ แต่ก็ซื้อขายผ่านนอมินี หรือใช้รูปแบบธุรกิจไทม์แชริ่ง ทั้งยังถือครองผ่านการซื้อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ซื้อสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเสรี
เหตุนี้ประเด็น “นโยบายเปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดิน 1 ไร่” จึงมองว่า “ไม่ใช่นโยบายขายชาติแต่เป็นการขายทรัพยากรที่ดินของประเทศหรือไม่” แม้ถือครองโดยเอกชนก็อาจถือว่า “ขายทรัพย์สินของชาติ” เพราะการเรียกเป็นนโยบายขายชาติได้ต่อเมื่อผู้ดำเนินนโยบายมีเบื้องหลังไม่โปร่งใสหาประโยชน์ทางมิชอบจากนโยบายนี้
แล้วสร้างความเสียหายต่อ “สังคมโดยรวมอย่างตั้งใจ” หากไม่เข้าเกณฑ์นี้ก็ไม่ถือว่า “ขายชาติ” และมีคำถามว่าเป็นนโยบายที่ดีหรือไม่...? ขณะนี้ยังตอบชัดไม่ได้แต่ดูแล้ว “ควรทบทวนให้เข้มงวดรอบคอบ” อย่างน้อยต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินก็ต้องเสียภาษีในอัตราระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้นโยบายลักษณะเดียวกัน
ประเด็นคำถามที่ว่า “นโยบายเปิดกว้างให้ต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยได้ 1 ไร่ เปิดรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นการขายชาติหรือไม่นั้น” เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่าผู้กำหนดนโยบาย เครือข่าย พรรคพวก หรือนอมินีได้ผลประโยชน์ในทางส่วนตัวที่มิชอบจากการกำหนดนโยบายนี้หรือไม่
ทั้งนโยบายเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเฉพาะ หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในทางมิชอบหรือไม่ หากเป็นเยี่ยงนี้ “ก็เข้าข่ายขายชาติ” แต่หากดำเนินนโยบายมุ่งประโยชน์สาธารณะ “ไม่ประเมินผลดีผลเสียให้ครบถ้วนรอบด้านทุกมิติ” ส่งผลระยะสั้น...ยาว ก็เป็นความผิดพลาดจากการกำหนดนโยบายและนำไปปฏิบัตินั้น
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ “มิได้เป็นผลจากความไม่รู้ หรือความไม่สุจริตของรัฐบาลอย่างเดียว” แต่สำหรับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการถือครองที่ดินสูงอย่างประเทศไทย หรือกรณีประเทศละตินอเมริกา แอฟริกา ย่อมสามารถมีปัญหาการกว้านซื้อที่ดินของทุนข้ามชาติขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เสมอ
อย่างกรณี “ประเทศไทย” ข้อมูลจริงเกี่ยวกับการถือที่ดินนั้น “มีไม่กี่ตระกูล” ถือครองที่ดินเกินแสนไร่ แล้วคนมีที่ดินเกินกว่า 1,000 ไร่ (1,001-500,000 ไร่) 800 กว่าราย ส่วนผู้มีที่ดินมากที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศเป็นเจ้าของโฉนดร้อยละ 80 ของโฉนดทั้งหมด ขณะที่ผู้มีที่ดินต่ำสุดร้อยละ 20 เป็นเจ้าของไม่ถึง 0.5% ของที่ดินมีโฉนด
เมื่อเทียบกับ “ประเทศมีนโยบายสาธารณะเหมาะสมพร้อมด้านทรัพยากรที่ดิน” อย่างเช่นกรณีหลายประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ที่มีการเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาซื้อขายที่ดินได้ แต่ว่าประเทศเหล่านี้มีมาตรการค่อนข้างรัดกุม มีกฎระเบียบเข้มงวดและต้องเสียภาษีในอัตราสูงมาก
ส่วนประเทศที่ประสบความล้มเหลว “การดำเนินนโยบายเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดินได้” อย่างเช่นละตินอเมริกาและประเทศแอฟริกาบางประเทศ ที่เกิดการกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ (Land Grab) ทำให้ที่ดินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและอุดมสมบูรณ์อยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
“ประชาชนยากจนต้องถูกผลักไปอยู่ตามชายขอบ เพราะมีการกว้านซื้อที่ดินการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้การกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากนี้ “ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง” อันนำมาพร้อมกับปัญหาทางด้านความมั่นคงด้วยซ้ำ” รศ.ดร.อนุสรณ์ว่า
ตอกย้ำหลักการ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย” ลักษณะให้พำนักระยะยาวแก่ 4 กลุ่ม “เป็นนโยบายที่ดี” หากทำได้จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย
แต่สมมติว่า “มาตรการประสบความสำเร็จดึงต่างชาติเข้ามาอยู่ในไทย 1 ล้านคน” ทุกคนซื้อที่ดิน 1 ไร่ “ย่อมเกิดการเก็งกำไรที่ดินขนานใหญ่” ทำให้คนไทยเข้าถึงการเป็นเจ้าของที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ยากขึ้นอีก ดังนั้นการจูงใจคนกลุ่มนี้เข้ามาพำนักและทำงานในไทยน่าจะใช้มาตรการอื่นดีกว่า และสร้างเมืองไทยให้น่าอยู่
เช่น ความปลอดภัยในชีวิต...ทรัพย์สิน การก่ออาชญากรรมน้อย ความโปร่งใสไม่เรียกรับเงินสินบนระบบราชการ ปลอดการทุจริตของนักการเมือง ระบบขนส่งสะดวกปลอดภัย สาธารณูปโภคมีคุณภาพราคาถูก สิทธิ์ทำงานพร้อมวีซ่าคู่สมรสและบุตร ยกเว้นภาษีเงินได้ต่างประเทศสามารถเช่าอสังหา ริมทรัพย์...ที่ดินระยะยาว
ฉะนั้น “แผ่นดินไทย” ไม่ควรตกอยู่ในมือ “คนต่างชาติง่ายๆ” เพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานมีแผ่นดินอยู่อาศัยกันต่อไปในอนาคต “รัฐบาล” ต้องทบทวนให้รอบด้านคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติบ้านเมืองเป็นหลัก.