“พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมรัฐมนตรี ลงพื้นที่บึงกาฬ วางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 ร่วมกับนายกฯ สปป.ลาว อ้อน เอาความรัก ความคิดถึง และห่วงใยมาฝาก เจอหญิงสูงวัยเข้าสวมกอด
ตั้งแต่เวลา 07.00 น. วันที่ 28 ต.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานทหาร (กองบิน 23) จังหวัดอุดรธานี และเดินทางต่อไปยัง จ.บึงกาฬ พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ
จากนั้นเวลา 09.36 น. พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางด้วยรถตู้โตโยต้าอัลพาร์ด สีดำ หมายเลขทะเบียน วฌ 1599 กรุงเทพมหานคร มาถึงบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ พร้อมกล่าวขอบคุณชาวบึงกาฬ รู้สึกดีใจที่บ้านเมืองสงบ รัฐบาลทราบว่าหลายเรื่องมีปัญหา โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะดำเนินการให้ วันนี้พูดไม่ออกเพราะตื่นเต้นเจอคนเยอะ และยินดีที่บึงกาฬจะมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ส่วนสะพานแห่งที่ 6 กำลังพิจารณาศึกษาออกแบบ
...
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า เอาหัวใจ ความคิดถึง ความรัก ความห่วงใยจากรัฐบาลและประชาชนภาคอื่นๆ มาถึงบึงกาฬด้วย พร้อมขอบคุณทุกคน ทุกภาคส่วน ระหว่างนั้นมีหญิงสูงอายุเข้าสวมกอดนายกรัฐมนตรีจนทำให้เซไปเล็กน้อย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็หัวเราะออกมาเล็กน้อยก่อนจะเดินต่อไป โดยมีการยกมือโบกให้กับประชาชนที่มารอตลอดทาง ต่อมาขึ้นรถไปยังจุดจอดเรือโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เพื่อข้ามไปยังฝั่ง สปป.ลาว ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และจะกลับมาประกอบพิธีฝั่งไทยอีกครั้ง
เวลา 10.00 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสาระสำคัญการหารือทวิภาคีกับระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ร่วมเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือกัน เชื่อมั่นว่าสะพานแห่งนี้จะเป็นอีกช่องทางให้ประชาชนตามแนวชายแดนไปมาหาสู่กันได้สะดวกมากขึ้น และจะมีสะพานแห่งอื่นๆ เพิ่มอีก ขอให้ดูแลคนไทยในประเทศลาว ซึ่งคนไทยก็จะดูแลคนลาวในไทยเช่นกัน
ทางด้านนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งในวันนี้ไทย-ลาวมีสะพานเชื่อมโยง แต่ถึงจะไม่มีสะพานคนไทย-คนลาวก็มีใจเชื่อมใจ ขอให้จดจำถ้อยคำที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่พึ่งพาถ้อยอาศัยระหว่างสองประเทศ “กินข้าวร่วมนา กินปลาร่วมน้ำ” โฆษกรัฐบาล เปิดเผยต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อมั่นว่าสะพานแห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่แสดงถึงความเป็นมิตรที่ใกล้ชิด ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศและประชาชนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น จะเป็นสะพานที่เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจะเป็นทางเลือกการขนส่งระหว่างไทยกับลาว รวมทั้งส่งเสริมการขนส่งเส้นทางหมายเลข 8 (R8) ระหว่างไทย-ลาว-เวียดนามให้สะดวกยิ่งขึ้น
ในส่วนของประเด็นเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบรางของไทยกับรถไฟลาว-จีน นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดอุปสรรคในการขนส่งและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีให้เต็มที่ ซึ่งต้องการเห็นความคืบหน้า อำนวยความสะดวก ขจัดอุปสรรคต่างๆ
ภายหลังการหารือนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้กล่าวแสดงความยินดีและความร่วมมือโครงการ ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมงานที่มีความหมายเป็นสิริมงคล การก่อสร้างนี้เป็นความพยายามมุ่งมั่นของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง การขนส่ง ส่งเสริมการค้า การลงทุน ท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาในทั้งสองประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน และได้อวยพรให้ 2 ประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) แล้วเสร็จ จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณด่านชายแดนฝั่ง จ.บึงกาฬ และชายแดนฝั่งแขวงบอลิคำไซ ให้เป็นอีกหนึ่งประตูการค้าที่สำคัญ จะมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับลาว ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของ จ.บึงกาฬ อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า จากไทยไปสู่ตลาดในจีนตอนใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งออกทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ ขณะเดียวกัน สะพานมิตรภาพไทย-ลาวยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนของทั้ง 2 ประเทศให้มีความใกล้ชิดและเดินทางไปมาหากันได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มจุดเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เปิดเส้นทางท่องเที่ยว 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เวียดนาม ภายหลังการคมนาคมเชื่อมโยงถึงกัน.