การลงทะเบียน “บัตรคนจน” ที่ตั้งชื่อเสียโก้หรูว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” แต่คำจำกัดความของผู้ถือบัตรก็คือ “ต้องเป็นคนจน” และ ยากจนในระดับท่ีรัฐบาลกำหนด คือ ยากจนจริงๆ จึงจะมีสิทธิได้รับ “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” การลงทะเบียนบัตรคนจนปี 2565 เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 5 กันยายนจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม คุณพรชัย ฐีระเวช ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า มีคนจนลงทะเบียนแล้วกว่า 21.93 ล้านคน จะปิดการลงทะเบียนวันที่ 31 ตุลาคม คาดว่าน่าจะไม่เกิน 23 ล้านคน

นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โพสต์ถึง ประชาชนคนจนที่รัก เมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า ได้รับทราบความเดือดร้อนของพี่น้องผู้มีรายได้น้อย จึงขยายเวลาลดค่าก๊าซหุงต้มให้อีก 3 เดือน เพิ่มเงินช่วยเหลือจากเดิม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (วันละ 50 สตางค์) เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (วันละ 1.1 บาท) เงินช่วยวันละ 50 สต.–1 บาท ซื้ออะไรกินได้บ้าง?

ดูจากจำนวน “คนยากจน” ที่ลงทะเบียนรับบัตรคนจนแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์สร้างคนจนเพิ่มขึ้นเร็วมาก จาก 13.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 21.93 ล้านคนในปี 2565 (ยังลงทะเบียนไม่จบ) ชั่วเวลาแค่ปีเดียวคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 8.5 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้น 62.9% หลังน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ ผมเชื่อว่าคนจนทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคนแน่นอน ผมจึงอยากขอร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขยายเวลาลงทะเบียนบัตรคนจนออกไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน จนกว่าน้ำท่วมลดลงปกติแล้ว

...

ตัวเลขคนจนของรัฐบาลสอดคล้องกับ รายงานธนาคารโลกฉบับล่าสุด ที่ นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เพิ่งแถลง ธนาคารโลกได้วิเคราะห์ถึงความยากจนและความเหลื่อมลํ้าของคนไทย ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯพอดี

รายงานธนาคารโลกระบุว่า การลดความยากจนของไทย “ชะลอตัวลง” ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา (ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ขึ้นครองอำนาจเป็นนายกฯ) โดยความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2559 2561 และ 2563 สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รายได้จากภาคการเกษตรและภาคธุรกิจซบเซา อัตราความยากจนในพื้นที่ชนบทสูงกว่าในเขตเมืองมากกว่าร้อยละ 3 คนจนในชนบทมีมากกว่า คนจนในเมือง 2.3 ล้านคน อัตราความยากจนใน “ภาคใต้” และ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” สูงเป็น 2 เท่าของอัตราความยากจนเฉลี่ย ของประเทศไทย

ผลการสำรวจทางโทรศัพท์ของธนาคารโลกประจำประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 70 ของครัวเรือนในชนบทมีรายได้ลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 การวิเคราะห์ยังพบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันของรายได้สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก โดย มีความเหลื่อมลํ้าทางรายได้ ที่เรียกว่า Gini Coefficient ที่ 43.3%

โครงสร้างคนจนในประเทศไทย 79% ของคนยากจนยังคงอยู่ในพื้นที่ชนบท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ครัวเรือนในชนบทมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณร้อยละ 68 ของครัวเรือนในเมือง หลายครัวเรือนในชนบทยังคงขาดการศึกษา มีผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจำนวนมาก มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก การสร้างทักษะให้เกษตรกรที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป

ก็ต้องถือเป็นผลงานยอดเยี่ยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สามารถเพิ่มคนจนได้มากถึง 8.5 ล้านคนในปีเดียว ผ่านจำนวน “บัตรคนจน” ของรัฐบาลเอง

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงเป็น ปัญหาของประเทศ แต่ยังเป็น ความเสี่ยงของประเทศ หลังเอเปกรีบยุบสภาเลือกตั้งใหม่เถอะ ก่อนที่คนจนจะเพิ่มมากกว่านี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”