มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย พลันที่ “วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล” ชายวัย 62 จาก กลุ่มศักดินาเสื้อแดงต่อต้านเผด็จการ พุ่งเข้าสาวหมัด-เท้าใส่ “นักร้องเบอร์ 1” ศรีสุวรรณ จรรยา

ด้วยข้อหาตบ (มือไม่แบ) สั่งสอนนักร้องคนดัง

กระแสผู้คนในสังคม แม้หลายคนจะไม่นิยมการใช้ความรุนแรง แต่ในใจลึกๆ ถึงแอบเอาใจช่วย

แค่มีคนแชร์หมายเลขบัญชีธนาคารไม่กี่ชั่วโมง ยอดโอนเงินช่วยเหลือต่อสู้ทางคดี ก็หลั่งไหลเข้ามาท่วมท้น

ในฐานะมีโอกาสเข้าไปเรียน หลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) สถาบันพระปกเกล้า เมื่อหลายปีก่อน ก็ได้เรียนรู้ว่า การใช้ความรุนแรง ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ดี

แต่เพราะอารมณ์คนในสังคม ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มอำนาจชุดนี้ ค่อยๆสะสมซึมซับกับความรุนแรงเป็นระยะๆ

โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้เห็นต่างของเจ้าหน้าที่รัฐ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนเกิดความชาชิน ที่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่

ประกอบกับกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวตั้งแต่ต้นทาง จนมันกลายเป็นอารมณ์สะสมของสังคม

ในมุมมองของคนที่แอบเอาใจช่วย อาจคิดว่าก็ถ้าระบบยุติธรรมมันปกติดี เขาอาจไม่รู้สึกยินดี เพราะมีทางออกที่ดีกว่าตามกระบวนการ แต่พอมันไม่มีทางออกที่ดีกว่า ก็เลยชอบทางออกที่สะใจกว่า

บ้านเรามีนักร้อง (รับจ้าง) อยู่หลายต่อหลายคน ที่มี Hidden agenda แฝงอยู่

มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มีคนรัก ย่อมมีคนเกลียด ยิ่งมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ก็ยิ่งอันตราย

อาจถือได้ว่าต้นเหตุของความรุนแรง มาจากความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรม

นับว่าเป็นความแหลมคมของ พรรคก้าวไกล โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ประกาศคิกออฟแคมเปญนโยบาย “การเมืองไทยก้าวหน้า” ที่จะใช้ชูหาเสียงในศึกเลือกตั้งใหญ่ เป็นการขอฉันทานุมัติจากประชาชนไปในตัว

...

นโยบายสำคัญที่ถูกจับตาคือ “นิรโทษกรรม” ผู้ต้องหาในคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557 เพื่อปูทางในการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึง ป.อาญามาตรา 112

เป็นการยิง Kh–47M2 Kinzhal ไฮเปอร์โซนิก เข้ากลางลำขั้วอำนาจ

หย่อนระเบิด กระตุกอารมณ์คนในสังคม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของนโยบายนี้ คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น “นิวโหวตเตอร์” หรือ “เฟิสต์โหวต” ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งในปี 2566

จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จะมีนิวโหวตเตอร์อยู่ราว 811,607 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน

ส่งผลอย่างมีนัยต่อศึกเลือกตั้งในครั้งหน้าแน่

พรรคก้าวไกลมองว่าปัญหาที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การบริหารงานของรัฐบาล หรือตัวนายกฯประยุทธ์ แต่อยู่ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างฐานราก

จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศโดยด่วน

แต่ความฝันของพลพรรคก้าวไกล และกลุ่มก้าวหน้าของ “ธนาธร-ปิยบุตร”

จะฝ่ามรสุมยุบพรรค (ที่มีผู้ร้องไปแล้ว) ไปได้หรือไม่

ก็ต้องรอถาม 9 อรหันต์ศาลรัฐธรรมนูญดู.

เพลิงสุริยะ