รัฐบาล เผย IMF และ ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จ่อคืนสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในสิ้นปี 65 หรือต้นปี 66 สะท้อนเสถียรภาพที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

วันที่ 17 ต.ค. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายงาน World Economic Outlook (WEO) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ประจำเดือน ก.ค. 2565 ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.2% ในปี 2565 ทั้งนี้ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และพื้นที่เศรษฐกิจหลักในยุโรป ยังกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดในภาวะการเงินโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในจีนและรัสเซีย ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับรายงานของ IMF ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2565 จะขยายตัว 2.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานเมื่อเดือน ก.ค. 2565 เนื่องจากสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอตัว เหตุราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความต้องการภายนอกที่ลดลง พร้อมทั้งคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่จะขยายตัวประมาณ 4%

ขณะเดียวกันในรายงานของ IMF ยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจไทยซึ่งขยายตัว 1.5% ในปี 2564 หลังจากติดลบ 6.2% ในปี 2563 ได้รับแรงหนุนจากการตอบสนองเชิงนโยบายที่รวดเร็ว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และ IMF ย้ำว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยหลักๆ ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมเตือนเรื่องราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชน และอุปสงค์จากภายนอก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่ต้องจับตา ทั้งภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว การชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางงบดุลของภาคเอกชนที่ขยายตัว ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

...

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% และ 3.8% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ และมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น ทางด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาด ส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ จึงยังควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ภายในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังปรับตัวดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังได้นำเสนอปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องดำเนินการ 3 ด้าน สำคัญ ได้แก่

1. หนี้ครัวเรือน ต้องลดสู่ระดับยั่งยืน
2. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยภาคการเงินควรช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน
3. โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัล เร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน Digital Payment

โฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.00% ต่อปี เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งสอดรับกับที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยจะฟื้นตัวจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และการบริโภคของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและดำเนินการตามนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนกำหนดมาตรการทางการเงินให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งกลุ่มที่เปราะบาง เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งผลจากการคาดการณ์ของ IMF และ ธปท. สะท้อนเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและมั่นคง อีกทั้ง ยังอยู่ในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี”