สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.) จัดประชุมระดับนานาชาติ Trade and Development Regional Forum 2022: Futuristic Asia Pacific สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


วันที่ 12 ต.ค. 65 นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับนานาชาติ Trade and Development Regional Forum 2022: Futuristic Asia Pacific โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการเผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก อันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อป้องกันการพังทลายของธุรกิจการค้าและการลงทุนจากโรคระบาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชากรทั่วโลก

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมโลกอย่างมากมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีกับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนต่างๆ โดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนามองว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนประเด็นดังกล่าวมาให้เป็นโอกาสได้เช่นกัน เช่น เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ การค้าและบริการโดยใช้โมเดลใหม่ๆ ที่จะสามารถตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ และเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ การค้า และการลงทุน สถาบันฯ จึงได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมแบ่งปันและถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

...

นายมนู สิทธิประศาสน์ ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายหลักของงานเน้นการแสวงหาอนาคตทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนของธุรกิจ และในขณะเดียวกันสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มธุรกิจที่สำคัญประกอบด้วย ภาคการเงิน ภาคเทคโนโลยี ภาคพลังงานสะอาด ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และภาคการขนส่ง เป็นต้น โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเปรียบเสมือนโรงงานของโลก เพราะเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้า และเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญ ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีข้อตกลงการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคอื่นๆ อีกหลายฉบับ อีกทั้งยังมีประชากรมากกว่า 60% ของจำนวนประชากรทั่วโลก ซึ่งเทียบได้กับเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย และ จีน เป็นต้น อีกทั้งยังมีความหลากหลายด้านความเชื่อและวัฒนธรรม ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกย่อมส่งผลกระทบไปทั่วโลก และในทางกลับกัน หากเกิดการพัฒนาในการค้าและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลดีให้กับเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน

ภายในงานยังมีการเสวนาหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “Welcome to the Future” การฉายภาพของเศรษฐกิจโลกในอนาคต โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้อำนวยการและรองประธานบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด มหาชน หัวข้อ “Future of Regional MNC” หัวข้อ “Future of Startup Business” และหัวข้อ “Future of Technology” ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “The Future is now” ผ่านมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค นโยบายและกฎระเบียบใหม่ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์เศรษฐกิจแบบใหม่ในภูมิภาค และนายมนู สิทธิประศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “Future of ITD”.