“ปานเทพ” โต้ ส.ส.เพื่อไทย อย่ามั่ว โยงกัญชากับกราดยิงหนองบัวลำภู แนะ อ่านหนังสือให้มากขึ้น แล้วจะพบกัญชาช่วยลดปัญหายาบ้าและอาชญากรรมได้ ยกผลวิจัย ยันผลลัพธ์ แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
วันที่ 8 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ปรากฏเป็นข่าว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ว่า กรณีที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ทำให้มีเด็กเล็กเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยกล่าวความตอนหนึ่งว่า
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนขอกล่าวโทษรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ที่พยายามเปิดเสรีกัญชา โดยตนมองว่ากัญชา คือ ยาเสพติดเทียบเท่ายาบ้า และรัฐบาลกลับส่งเสริมสร้างยาเสพติดทั่วประเทศ”
ข้อความดังกล่าวนั้นเห็นได้ชัดเจนว่า นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย นำประเด็นกัญชามาโยงกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนั้น เป็นการแถลงข่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการแรก การแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) ยืนยันว่า “ผลการตรวจหาสารเสพติดออกมาปรากฏไม่พบสารเสพติดในร่างกายของผู้ก่อเหตุยิงแต่อย่างใด”
ประการที่สอง ผู้ก่อเหตุยิงเด็กครั้งนี้ มีประวัติในการเสพยาบ้า ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวกับกัญชาเช่นกัน
การที่นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ที่ใช้ “ความเห็น” ว่ากัญชาเทียบเท่ากับยาบ้านั้น แสดงให้เห็นว่า นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ยังไม่ได้อ่านข้อมูลและรับทราบความรู้ เรื่องกัญชาในงานวิจัยยุคปัจจุบัน
...
โดยงานวิจัยในปี 2554 เสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol dependence เป็นงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ โดยมีการสำรวจตัวอย่างผู้สูบบุหรี่ 15,918 คน, แอลกอฮอล์ 28,907 คน และกัญชาก็มีการสำรวจมากถึง 7,389 คน พบว่า นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรกที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่สูงสุด 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้าสูงสุด 22.7% และหากสูบกัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียง 8.9% เท่านั้น
และระดับการติดนั้นได้ประเมินจากผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกาด้านสารเสพติดประเทศ พบว่ากัญชามีฤทธิ์เสพติดน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับ “กาแฟ” เท่านั้น
และคนที่ใช้กัญชาหากใช้เกินก็กลับจะเกิดอาการขลาดกลัวหรือนอนหลับ ไม่ได้ถูกกระตุ้นเหมือนยาบ้าหรือเหล้าที่ทำร้ายร่างกายหรือทะเลาะวิวาทกับคนอื่นในสังคม
นอกจากนั้น กัญชายังไม่เพียงมีประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการส่งเสริมสุขภาพในหลายมิติด้วย โดยมีผลต่อการลดปริมาณใบสั่งยา และการใช้ยารักษาโรคในระบบอีกด้วยดังปรากฏมาแล้วในสหรัฐอเมริกา
ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะ “กัญชา” ในฐานะยาเสพติดเหมือนที่เคยใช้มาแล้วในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
เพราะคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้เคยทำการรายงานการสอบสวนศึกษาตั้งแต่ปี 2546 แล้วพบว่า นโยบายประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะ ยาเสพติดในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำความผิดจำนวนมาก เช่น การฆ่าตัดตอน, การฆ่าและจับตัวผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด, รวมถึงการกลั่นแกล้งใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเพื่อประโยชน์ในหน้าที่ราชการ ด้วยเพราะเป็นนโยบายที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในที่สุดก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืนอยู่ดี
ในทางตรงกันข้าม “กัญชา” จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการลดปัญหายาบ้า และลดยาเสพติดในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทที่ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมในสังคมด้วย
โดยมีตัวอย่างปรากฏ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น บรรยายงานมหกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” ถึงกรณีศึกษา “คุณไก่ เดินวนฟาร์ม” จังหวัดขอนแก่น ความว่า
“คนนี้ติดยาบ้ามาก หนักเลย สุดท้ายนี่ถึงขนาดจะทำร้ายแม่ด้วยนะ แม่ห้ามปรามนะฮะ สุดท้ายแก้ด้วยการสูบกัญชา หายเลย ทีนี้ทำมาหากินได้ ทำการทำงานได้ เป็นผู้นำในการที่จะปลูกผักออร์แกนิก ปลอดสารพิษ ขายดีมาก เรียกว่าลูกค้ามาหาถึงบ้านเลย แล้วก็ชวนคนอื่นที่ติดยาบ้ามาเลิกได้ด้วยกัญชา 5 คนแล้ว เป็นวิทยากรให้กับโรงเรียน ครูประถมก็ชื่นชมชวนให้มาเป็นวิทยากรให้กับเด็กๆ เรียนรู้เรื่องนี้ เข้าไปดูยูทูบให้แกหน่อยนะฮะ”
นอกจากนั้น ยังปรากฏในคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 3 โดย ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อําพัน กิตติขจร) ที่บันทึกตำรับยาในการใช้ “กัญชา และกระท่อม” ปรุงเป็นตำรับยาในการ “อดฝิ่น” ด้วยความว่า
“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา ๒ สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กัญชาครึ่งกรัม ใบกระท่อมเอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป ๑ ถ้วย ให้เติมน้ำ ๑ ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่าจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป”
โดยเฉพาะกรณีศึกษาที่มีมาแล้วที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีการให้ใช้กัญชาจัดให้เป็น “ยาอ่อน”(Soft drug) ทั้งพื้นที่ทางการแพทย์และเปิดพื้นที่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการอย่างมีการควบคุม เพื่อไปลดยาเสพติดที่ส่งผลกระทบรุนแรง (Hard Drug) และนำไปสู่การลดปัญหาการก่ออาชญากรรมในท้ายที่สุด จนกระทั่ง “คุกร้าง” ประเทศเนเธอร์แลนด์ถึงขั้นต้องมีการนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ
ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ ปี พ.ศ. 2562 รวมไปถึงสุญญากาศกระท่อมในปี พ.ศ. 2564 จำนวนการบำบัดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี พ.ศ. 2562 มีผู้ที่เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศจำนวน 263,730 ราย ตัวเลขผู้ที่เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยหลังจากให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์และมีการใช้กัญชาใต้ดินเป็นส่วนใหญ่ผ่านไป 2 ปี ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2564 ตัวเลขผู้ที่เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศลดลงเหลือ 156,632 ราย และในปี 2565 (ลดลงไปมากถึง 40.61% เทียบจากปี 2562) จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ลดลงเหลือ 80,938 ราย และการลดลงนี้รวมไปถึงการลดลงของ ยาบ้า กัญชา และกระท่อมด้วย
ทิศทางดังกล่าวนี้เป็นทิศทางเดียวกับประเทศแคนาดาซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
โดยผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดาระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559-2561 พบว่า 25% ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอิน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึง 50% และการทดแทนกลุ่มฝิ่นที่ผิดกฎหมายอีก 31%
สอดคล้องไปกับการสำรวจที่ประเทศแคนาดาพบว่าผู้ป่วย 2,030 คนที่ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายนำไปใช้เพื่อทดแทนสารเสพติดชนิดต่างๆ ได้แก่ สุรา 44.5%, ยาแก้ปวดมอร์ฟีน 35.3%, บุหรี่ 31.1%, ยาเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 26.6%
ส่วนกรณีที่นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้มีความห่วงใยว่ากัญชาจะทำลายคลังสมองของประเทศนั้น ในความเป็นจริงเรื่องระดับสติปัญญาของเยาวชนน่าจะเป็นปัจจัยอื่นที่สำคัญมากกว่ากัญชา
เพราะปรากฏผลการศึกษาว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการใช้กัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการมาตั้ง 49 ปี แล้ว แต่ค่าเฉลี่ยวัดระดับสติปัญญา หรือ ไอคิว (I.Q.) ของชาวเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ 100.74 ถือว่าเป็นประเทศที่มีระดับสติปัญญาที่สูงมาก เพราะอยู่ติดอันดับที่ 10 ของโลก ในขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญา หรือไอคิว (I.Q.) ของประเทศไทยมีระดับ 88.87 อยู่ในอันดับที่ 64 ของโลก
แม้แต่มลรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดให้มีการใช้กัญชาทั้งในทางการแพทย์และนันทนาการมา 17 ปี ปรากฏว่ามลรัฐโคโรลาโดวัดระดับสติปัญญา หรือ ไอคิว (I.Q.) ได้ที่ระดับ 101.1 สูงกว่าประเทศไทยเช่นกัน
ย่ิงไปกว่านั้นผลการศึกษาพบว่าเมื่อทำให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในมลรัฐโคโรลาโดแล้ว ปรากฏว่าอัตราการจบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และอัตราการตกออกหรืออัตราการลาออกจากการศึกษาลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องด้วย
โดยปรากฏในรายงานว่าในปี พ.ศ. 2550 พบว่า มลรัฐโคโรลาโด อัตราการ “ลาออก” จากการเรียนอยู่ที่ 3.8% แต่ในปี 2563 อัตราการลาออกจากการเรียน “ลดลง” เหลือเพียง 1.8% เท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม ปี 2550 พบว่า มลรัฐโคโรลาโด อัตราการ “สำเร็จการศึกษา” อยู่ที่ 73.9% แต่ในปี 2563 อัตราการสำเร็จการศึกษา “เพิ่มขึ้น” เป็น 81.9%
ดังนั้นกัญชาจึงไม่ได้เกี่ยวกับการคลั่งทำร้ายกราดยิงเด็ก หรือทำลายคลังสมองของชาติ และมีความแตกต่างจากยาบ้าอย่างสิ้นเชิง
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข 8 ตุลาคม 2565