โซเชียลวิพากษ์ปมวิทยุทรานซิสเตอร์ โฆษกรัฐบาล ย้ำ “บิ๊กตู่” ให้ความสำคัญการสื่อสารผ่านวิทยุ ยกข้อมูลอ้างอิงเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนดีที่สุด มีกฎกติกาชัดเจนที่จะต้องออกอากาศช่วงมีภัยพิบัติ

วันที่ 4 ต.ค. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารที่เน้นย้ำการแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทางไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น รวมทั้งจะต้องมีแผนสำรองด้านการสื่อสาร โดยถูกนำไปพุดถึงในโซเชียลเรื่องวิทยุทรานซิสเตอร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางวิทยุ เพราะวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด อีกทั้งมีผลสำรวจข้อมูลยืนยันว่าสื่อวิทยุยังเป็นที่นิยมของประชาชนทุกช่วงวัย
 
ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ระบุว่า ให้ผู้ประกอบกิจการทุกรายจัดเตรียมความพร้อมในการรับ หรือแสวงหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการออกอากาศ แจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ซึ่งผู้ประกอบกิจการจะต้องจำแนกข้อมูลสำหรับแจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ดังต่อไปนี้

1.ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงข่าวสารเพื่อทราบ ซึ่งได้แก่ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงทั่วไปที่อาจมีผลสืบเนื่องหรือนำไปสู่ภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

...

2. ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงเพื่อการเฝ้าระวัง ซึ่งได้แก่ ประกาศหรือข้อมูลที่มุ่งหมายให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชนเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน

3. ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือน ซึ่งได้แก่ ประกาศ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ใดๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นการกำหนดให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชนจะต้องปฏิบัติตามเพื่อการป้องกัน หรือระงับยับยั้งความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
 
ขณะเดียวกัน โฆษกรัฐบาล ยังเผยถึงตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พบว่า อุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่า 68.9% ของกลุ่มผู้ฟังวิทยุยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมา 19.3% รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi ตามมาด้วย 7.8% เป็นการรับฟังจากวิทยุในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต และน้อยที่สุด 0.3% เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก แล็บท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา

ส่วนคลื่นที่ใช้ในการรับฟังรายการวิทยุ จากการสำรวจพบว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่นิยม หรือ 85.9% รับฟังรายการวิทยุจากคลื่น FM ตามมาด้วยการรับฟังวิทยุออนไลน์ 17.5% และรับฟังจากคลื่น AM อยู่ที่ 11.2% สำหรับช่องทางในการรับฟังวิทยุออนไลน์ จากการสำรวจพบว่า ช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคใช้รับฟังวิทยุออนไลน์ คือการฟังผ่านแอปพลิเคชัน สัดส่วน 65.9% ส่วนการรับฟังผ่านเว็บไซต์มีเพียง 39.7%

นอกจากนี้ พฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ FM จำนวน 40 สถานี จากทุกช่องทางในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ข้อมูลการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบ FM ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี อ้างอิงจาก บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ระบุถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ ข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค. 2565

  • ผู้ฟังกลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน
  • ผู้ฟังกลุ่ม Gen Y อายุ 20-29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน
  • ผู้ฟังกลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน
  • ผู้ฟังกลุ่ม Gen Z อายุ 12-19 ปี ก็มีการฟังวิทยุถึงกว่า 8 แสนคน


โดยตัวเลขข้อมูลนี้สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย 
 
“ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง การปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จึงมีความสำคัญในการเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อม เพื่อป้องกัน แก้ไข และบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น หรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสื่อสารถึงประชาชนในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น ซึ่งวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด มีแทบทุกตำบล ทุกอำเภอ มีความเสถียร มีกฎ กติกาที่ชัดเจน ที่จะต้องออกอากาศในเวลาที่มีภัยพิบัติ”.