ไม่ว่าผลคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยครบวาระ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกหัวออกก้อย แต่คำวินิจฉัยจะเป็นบรรทัดฐานของการเป็น นายกฯของประเทศไทย ครบ 2 สมัยหรือ 8 ปี ตลอดไป

ในอดีตที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเอาไว้ อาจเป็นเพราะ ไม่มีรัฐบาลชุดไหนอยู่ครบเทอมแม้แต่สมัยเดียว เลยไม่มีนายกฯอยู่จนครบ 8 ปี บางท่านกลับมาเป็นนายกฯอีกสมัยก็ไม่มีใครได้อยู่จนครบเทอม ซึ่งประเด็นนี้จะไปเกี่ยวพันกับการกำหนดบัญชีนายกฯของแต่ละพรรคการเมือง ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อแคนดิเดตคนที่จะเป็นนายกฯของแต่ละพรรคได้ไม่เกิน 3 ชื่อ ไม่ต้องมีการเรียงลำดับว่าใครจะเป็นก่อนเป็นหลัง เอาเป็นว่าพรรคเสนอชื่อใครก็คนนั้น

ส่วนใหญ่พรรคการเมืองก็จะเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯของพรรคแค่ชื่อเดียว เป็นการป้องกันปัญหาที่จะตามมาว่า ควรจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯก่อนหลัง แต่ก็เหมือนดาบสองคม เช่นกรณีของ พลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดต นายกฯเพียงคนเดียว เมื่อถูกวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ ปัญหาจะตามมาทันที ไม่มีนายกฯสำรองเอาไว้ มีแต่รักษาการนายกฯ พรรคร่วมรัฐบาลในลำดับต่อมา ก็มีปัญหาเพราะมีเสียงสนับสนุนไม่พอ นอกจากจากพรรคแกนนำจะช่วยเทคะแนนให้ แต่โดยธรรมชาติ ไม่มีพรรคไหนยอมอยู่แล้ว เพราะคนเป็นนายกฯมีอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหารเป็นคนตั้ง ครม.

และยังมีประตูชัย คือถ้าโหวตเลือกนายกฯในวาระที่หนึ่งไม่ได้ก็ต้องหวังส้มหล่นนายกฯในก๊อกที่สองอยู่แล้ว ด่านสำคัญคือ ส.ว. 250 คน ที่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯในสภา เลือกนายกฯไม่ได้ ก็เป็นรัฐบาลรักษาการคาราคาซังกันไปจนกว่าจะครบเทอม

เกิดวิกฤติในสภา เกิดวิกฤติฝ่ายบริหาร ลามไปถึงวิกฤติตุลาการ โดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลคดีอาญานักการเมือง กกต. ป.ป.ช. ทำงานกันหนักถูกลากเข้าร่วมวิกฤติการเมือง

...

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่หรือไป ก็เกิดวิกฤติอยู่วันยังค่ำ

เพราะ ความใหม่ของรัฐธรรมนูญ ฉบับหมกเม็ดจ้องพิฆาตระบอบทักษิณและ ความเก่าของนักการเมือง ที่หาช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจกันต่อไป

ทีนี้ก็จะเกิดความขัดใจของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนผู้นำประเทศ เช่น จากสำนักโพลคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดลงเรื่อยๆ คนอยากได้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยากได้ แพทองธาร ชินวัตร อยากได้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกฯ แต่ในเมื่อมีช่องว่างของรัฐธรรมนูญที่กำหนดด้วยเสียงข้างมาก ในสภาพที่กลไกตามรัฐธรรมนูญอ่อนแอ กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยที่อันตรายกว่าอำนาจปลายจากกระบอกปืน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th