หลังจากมีข่าวว่าจะยกเลิกมาหลายครั้ง แต่กลายเป็นเพียงข่าวลือ แต่คราวนี้ มีบุคคลสำคัญออกมายืนยันด้วยตนเอง นั่นก็คือ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์สำคัญของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยืนยันว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินแน่
จะยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป รวมทั้งยุบ ศบค.ด้วย และใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน มีรัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นประธาน ส่วนในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีอำนาจประกาศสถานการณ์โรคระบาดได้ ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกาศใช้ทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นปี 2563 และมีการต่ออายุเกือบ 20 ครั้ง
มีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุม ชุมนุมทางการเมือง หรือใช้ปิดปากผู้เห็นต่างมากกว่าใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด มีผู้ถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. 1,467 คน 647 คดี มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ด้วย 241 คน ตามข้อมูลขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่ม 24 มิถุนายน
พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลายเป็นกฎหมาย ยอดนิยมของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง สามารถสลายการชุมนุมได้ทันที ผู้ฝ่าฝืนอาจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และยังคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย เจ้าหน้าที่จึงไม่ยอมใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมโดยตรง
ถ้าผู้มีอำนาจใช้ พ.ร.ก. เพื่อควบคุม การชุมนุมทางการเมือง อาจเข้าข่ายเป็นการลิดรอนเสรีภาพประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ หลายมาตรา เช่น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ประเทศที่พัฒนาห้ามทำโดยเด็ดขาด
นักวิชาการหลายคนเห็นด้วย กับการยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน แสดงว่า ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งในด้านการเมือง การแพร่ระบาดของโควิด ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุน และนักท่องเที่ยวในทางการเมือง ทำให้ประชาคมโลกเชื่อว่า ประเทศไทยยังยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย
...
ประชาคมโลกจะเชื่อมั่นประเทศไทยยิ่งขึ้น เมื่อเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดโอเปก ในเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่เจ้าภาพอยู่ในภาวะปกติ ไม่ใช่อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตลอดกาล นักการเมืองไทยก็จะหาเสียงเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศที่เสรี แม้จะต้องปฏิบัติตามกฎเหล็ก อาจนานกว่า 200 วันก่อนการเลือกตั้ง.