“มาดามเดียร์” เปิดปากเล่าสาเหตุย้ายซบประชาธิปัตย์ อยากมีอิสระในการทำงาน ชื่นชมความเป็นประชาธิปไตยใน ปชป. พร้อมย้อนเล่าวันสภาล่ม อัด ส.ส.บางคนไม่ทำหน้าที่ ทั้งที่เป็นกฎหมายสำคัญในการเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 22 ก.ย. 2565 น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ร่วม “เปิดปาก กับ ภาคภูมิ” ทางไทยรัฐทีวี ดำเนินรายการโดย นายภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ ภายหลังลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 16 ส.ค. 2565 และล่าสุดวันนี้เปิดตัวย้ายซบพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ใช้เวลาตัดสินใจอยู่ช่วงระยะหนึ่ง หลังลาออกผ่านมาประมาณ 5 สัปดาห์ ส่วนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะศรัทธาในความเป็นสถาบันการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่มีความชัดเจนเรื่องประชาธิปไตย และอยู่กับคนไทยมาแล้วถึง 76 ปี ไม่มีเจ้าของพรรค ไม่มีการผูกขาดทางอำนาจ สำคัญที่สุดคือ ส.ส. สมาชิกพรรค มีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น ก่อนจะมีท่าทีหรือมติของพรรคออกมาจะต้องมีการพูดคุยหารือกันในพรรคก่อน

ส่วนคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐหรือ น.ส.วทันยา ตอบว่า พรรคพลังประชารัฐก็มีการประชุมพรรค แต่ความเป็นอิสระในการทำงานนั้นมีในวัฒนธรรมของพรรคอยู่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ทุกมติของพรรค ความอิสระในการตัดสินใจชัดเจนกว่า ความเป็นสถาบันของพรรคและบุคคลไม่ยึดโยงกัน เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีการผลัดใบไป

...

ย้อนไปถึงเหตุการณ์สภาล่มในช่วงการพิจารณากฎหมายลูกเลือกตั้งสูตรหาร 100 หาร 500 มองว่าสะท้อนอะไร น.ส.วทันยา ระบุว่า ส.ส.ทุกคนมีอิสระที่ตัดสินใจ ไม่อยากก้าวล่วงคนอื่น แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในเรื่องที่อยากจะให้กฎหมายตกโดยการไม่เข้าร่วมประชุม ถ้าอยากจะให้กลับมาเป็นสูตรหาร 100 ก็ต้องไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ให้องค์ประชุมล่มเพื่อให้กฎหมายตกไป ส.ส.ต้องเข้าไปออกกฎหมาย วันนั้นเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง เป็นพื้นฐานการเลือกตั้งประชาธิปไตย แต่ ส.ส.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่หน้าที่หลักคือการร่วมประชุมสภา

“จริงๆ ไม่ได้เป็นมติพรรค แต่มันก็เป็นความคิดเห็นของ ส.ส.แต่ละท่าน เพียงแต่ว่าก็ต้องยอมรับว่าความคิดเห็นของเดียร์เป็นแบบนี้ ตลอดระยะเวลาที่สภาล่มซ้ำซากมาตลอด 3-4 สัปดาห์ ที่มันเกิดขึ้นมาตลอดทาง เดียร์เป็นหนึ่งคนแน่นอนของพรรคพลังประชารัฐที่อยู่ร่วมประชุมทุกครั้ง และเดียร์ก็ไม่อยากให้กฎหมายมันล่ม”

ขณะที่มองว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีการถกกันก่อนมีท่าทีในการลงมติในแต่ละเรื่อง มั่นใจในพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค มีโอกาสได้คุยกัน แต่ไม่ได้คุยอะไรเป็นพิเศษ ก่อนหน้านั้นก็มีการพูดคุยหลายพรรคเพื่อตัดสินใจในการเดินการเมืองต่อ หลังพูดคุยแล้วผู้บริหารทุกคนมีความตั้งใจดี ซึ่งแต่ละพรรคมีการทำงานต่างกัน ส่วนเรื่องที่บอกว่าประชาธิปัตย์เจ้าที่แรง วันนี้ก็พบว่าเป็นไปด้วยความอบอุ่น ไม่เห็นเจ้าที่แรงอะไร เชื่อว่าหลายคนที่มาทำงานการเมือง ถ้ากลัวคงไม่มาร่วมแต่แรก แต่ส่วนตัวก็จะทำงานด้วยความรอบคอบรัดกุม และเชื่อว่าประชาธิปัตย์ให้อิสระ ส.ส. ในการทำงาน เป็นเวทีที่เปิดกว้างพอให้ร่วมแสดงความเห็น ถ้ามีความปรารถนาดีจริงคนอื่นๆ ก็จะรับรู้ได้

มาดามเดียร์ เผยต่อไปว่า ส่วนตัวอยากทำงานนโยบาย ถ้าทำเขตต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ลงพื้นที่ พัฒนานโยบายได้น้อยลง ไม่ได้บอกว่าจะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่เท่าไร เพราะต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนว่าเหมาะที่จะเป็นสมาชิกพรรค เป็นที่พึ่งพาได้จริงหรือไม่ ในเรื่องการเลือกตั้งครั้งหน้าคงยังตอบไม่ได้ ขอให้อยู่กับปัจจุบัน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก่อน วันนี้เพิ่งมาสมัครเป็นสมาชิกพรรควันแรก ส่วนเรื่องที่ นายจุรินทร์ อยากให้มาช่วยดึงฐานเสียง กทม. ก็ขอบคุณหัวหน้าพรรค แต่ไม่แน่ใจว่าเพราะมองเป็นคน กทม. ด้วยหรือไม่ จึงอยากให้มาช่วยงานในส่วนนี้ ซึ่งความตั้งใจจริงคืออยากทำงานนโยบาย แต่ก็พร้อมที่จะรับทุกหน้าที่ตามที่ผู้ใหญ่เห็นสมควร

ส่วนกระแสที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ขาลง การเลือกตั้งที่ผ่านมา ส.ส.กทม. ก็แทบไม่เหลือนั้น ทำไมไม่เลือกพรรคอื่น คิดว่าขาลงจริงหรือไม่ มองว่ากระแสการขึ้นลงของการเมืองเป็นปกติ สิ่งสำคัญคือพรรคการเมืองนั้นๆ สามารถเป็นที่พึ่งและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้จริงหรือไม่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่เยอะ ควรจะสร้างศรัทธาให้ประชาชนได้จริงๆ เป็นโจทย์ที่สำคัญลำดับแรก พรรคประชาธิปัตย์เองก็มีขึ้นมีลง อยู่ที่บุคลากรของพรรค ถ้าเราตั้งใจอยากทำงาน ก็ไม่ควรที่จะกลัวกับอุปสรรค ความท้าทาย ไม่เช่นนั้นแล้วจะช่วยพัฒนาสถาบันได้อย่างไร

ขณะที่เรื่องวังวนความขัดแย้ง 2 ขั้วการเมืองไทยที่ได้เคยโพสต์ผ่านช่องทางโซเชียลนั้น น.ส.วทันยา ยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งขั้วความขัดแย้งในอดีต แต่บริบทวันนี้ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงกับขั้วการเมืองที่ขัดแย้งในปัจจุบัน ส่วนตัวไม่อยากเป็นตัวแทนความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่เหตุนี้เหตุผลเดียวที่ย้ายมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์

“เหตุผลหลักที่ตัดสินใจออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะว่าความเห็นของเรากับพรรคอาจจะไม่ไปในทางเดียวกัน และถ้าจะเป็นแบบนั้น เดียร์ก็คือคนที่จะต้องพิจารณาตัวเองว่าเราจะเดินออกจากพรรคหรือเปล่า เพราะเราคงไปเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่ได้ และองค์กรก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่เราอาจจะเห็นไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง เดียร์ก็คงต้องเป็นคนพิจารณาตัวเราเอง จึงได้ตัดสินใจที่จะออกมาข้างนอก แล้วก็กลับมาทบทวนตัวเองว่า แล้วถ้าตั้งใจจะทำงานการเมืองต่อ เราควรจะไปสังกัดในพรรคการเมืองไหน แต่เมื่อตัดสินใจแบบนั้นเราก็ไปศึกษาข้อมูล พูดคุยกับหลายๆ พรรคเพื่อที่จะมาใช้ประกอบในการตัดสินใจ

ซึ่งเดียร์ก็กลับมาดู สุดท้ายแล้วถ้าเราตั้งใจจะทำงานการเมือง สิ่งสำคัญมากๆ ก็คือตัวพรรคการเมืองเองต้องสะท้อนในความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ภายในพรรคก่อน เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่สุดอันแรก เพราะถ้าพรรคเองการตัดสินใจยังไม่สามารถที่จะเป็นประชาธิปไตย ไม่มีอิสระทางความคิดได้ แล้วถามว่าเวลาที่เราต้องไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน หรืองานนโยบายที่เราอยากจะพัฒนาไป ที่อาจจะเป็นประโยชน์ส่วนรวม แต่มันอาจจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของใครบางคน แล้วจะมีความอิสระในการที่จะทำงานจริงหรือไม่ คือคำถามใหญ่ที่สำคัญมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศคือความขัดแย้งจากในอดีต ความขัดแย้งจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่เห็นต่างกันที่ยังมีอยู่ รวมถึงช่วงวัยที่ยังจูนกันไม่ตรง แต่ส่วนตัวก็มองอีกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาที่ไม่ดีเสมอไป แต่ก็ทำให้ประเทศและคนไทยตื่นตัวกับบริบทการเมืองมากขึ้น ผลพวงที่ได้คือการตรวจสอบนักการเมือง ประชาชนกล้าออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าจะนำมาปรับได้อย่างไร และพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาวนาน จึงจะขอเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นสะพานในการเชื่อมต่อระหว่างรุ่น.