การก่อสร้างทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่ชาวบ้านเรียกว่า “มอเตอร์เวย์โคราช” ที่ก่อสร้างมากว่า 6 ปีแล้ว เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที มีคำชี้แจงจากนายนิพันธ์ ใหญ่อรุณ เลขานุการกรมทางหลวง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี คาดว่า การก่อสร้างจะแล้วเสร็จบางส่วนในปี 2567 และเปิดบริการเต็มรูปต้นปี 2568

เลขานุการกรมทางหลวง มีหนังสือ ชี้แจงบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ที่ตั้งคำถามข้างต้น โดยเล่าตั้งแต่เริ่มแรกมีการออกแบบก่อสร้างเบื้องต้นตั้งแต่ปี 2547 ออกแบบรายละเอียดเมื่อปี 2551 จากนั้นคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ก่อสร้าง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 เป็นระยะทาง 196 กม. ในวงเงิน 84,600 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างแบ่งออกเป็น 40 ตอน เริ่มต้นสัญญาในช่วงปี 2559 ก่อสร้างเสร็จแล้ว 24 ตอน ส่วนที่เหลือ 16 ตอนยังไม่เสร็จเพราะมีปัญหาสภาพพื้นที่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยสำรวจออกแบบไว้ ตั้งแต่ปี 2551 ต้องแก้แบบการก่อสร้าง ทำให้มีงานทำเพิ่มขึ้น 6,755 ล้านบาท

แต่อยู่ในวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันกรมทาง หลวงได้ขออนุมัติวงเงินงบประมาณ และขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะเร่งรัดก่อสร้างส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าจะสามารถใช้งานบางส่วนได้ในปลาย ปี 2566 จะทยอยเปิดฟรีในปี 2567 เปิดเต็มรูปในปี 2568

บทบรรณาธิการ “ไทยรัฐ” ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม ได้ข้อมูลเรื่องมอเตอร์เวย์โคราช ส่วนใหญ่จากการอภิปรายงบประมาณ ปี 2566 ของนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ที่ถ่ายทอดโดยคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” โดย “ลม เปลี่ยนทิศ” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างทางหลวงสายสำคัญเส้นทางหนึ่งของประเทศ

...

มอเตอร์เวย์โคราชสร้างขึ้นเพื่อ ระบายความแออัดของถนนมิตรภาพ เส้นทาง สำคัญจากกรุงเทพฯ และจังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศมุ่งหน้าสู่ 20 จว.ของอีสาน มีปัญหารถติดยาวหลาย กม. และเป็นเวลานานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันปีใหม่และสงกรานต์มาหลายสิบปี ทุกฝ่ายจึงเอาใจช่วยให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว

แต่ความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำให้ประชาชนสงสัยเป็นธรรมดา เพราะอะไรกันแน่ คำชี้แจงของเลขานุการกรมทางหลวง ซึ่งบท บก.ไทยรัฐ ไม่ได้ตีพิมพ์ได้ทั้งหมด เนื่องจากเนื้อที่จำกัด จึงถ่ายทอดลงเฉพาะประเด็นสำคัญ น่าจะทำให้ประชาชน เข้าใจถึงอุปสรรคและปัญหามากมาย แม้แต่พื้นที่ที่เคยสำรวจก็เปลี่ยนไป.