โฆษกรัฐบาล เผย ครม. เห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ พ.ร.บ.ประกันชีวิต - ประกันวินาศภัย เสริมแกร่งผู้ประกอบการให้มีเสถียรภาพ ความมั่นคงการเงิน ประชาชนผู้เอาประกันภัยเชื่อมั่นยิ่งขึ้น

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

สำหรับสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบันที่บังคับใช้ คือ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ครอบคลุมทั้งประเด็นการกำกับควบคุมธุรกิจประกันภัย การดำรงเงินกองทุน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษและการเปรียบเทียบคดีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของบริษัท มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน ส่งเสริมกระบวนการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบริษัทให้เป็นรูปธรรม ลดการใช้ดุลยพินิจของนายทะเบียน

ทั้งนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 เช่น

1. การกำกับดูแลบริษัทประกันภัย อาทิ กำหนดเพิ่มเติมให้กรรมการของบริษัทให้รวมถึง ผู้จัดการสาขา และคณะกรรมการบริหารของบริษัทประกันชีวิตของไทยและบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในไทย ให้เป็นไปตามมาตรการเดียวกัน

2. การดำรงเงินกองทุน เช่น การดำรงเงินกองทุนเพื่อเป็นหลักประกัน ในการประกอบธุรกิจของบริษัทและความน่าเชื่อถือของผู้เอาประกันและธุรกิจประกันภัย โดยบริษัทต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการกำหนดและคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดให้บริษัทดำรงเงินกองทุนเพิ่มหากพบว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูง หรือคาดว่าจะมีความเสี่ยงสูงในอนาคต

...

3. กระบวนการในการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบริษัทให้เป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการประกอบธุรกิจให้มีเสถียรภาพ เช่น เมื่อปรากฏว่าบริษัทมีฐานะ หรือการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนมีอำนาจสั่งแก้ไขฐานะการดำเนินงาน สั่งห้ามขยายธุรกิจ สั่งเพิ่มทุน/ลดทุน สั่งถอดถอนกรรมการ และเมื่อบริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ยังสามารถเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุน ทั้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และ/หรือสั่งปิดกิจการ ได้

4. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและการเปรียบเทียบคดีให้สอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง เช่น แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการเปรียบเทียบ โดยกำหนดให้สามารถเปรียบเทียบปรับได้ทุกความผิดเพื่อจะได้ไม่ต้องส่งดำเนินคดี ช่วยลดการนำคดีขึ้นสู่ศาล เว้นแต่ความผิดที่มีผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย และประชาชนในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมถึงผลกระทบเชิงบวกจากร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ว่า นอกจากจะส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน ระบบงานและบุคลากรมีความพร้อม มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับธุรกิจประกันภัยของต่างประเทศ ที่สำคัญ ประชาชนผู้เอาประกันภัยเกิดความเชื่อมั่นในธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย.