“อนุชา” นำคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า รับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มผลิตสุรากลั่นชุมชน จ.แพร่ ยืนยันนำข้อเสนอไปพิจารณาอย่างรอบคอบ ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อประโยชน์ทุกฝ่าย

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่จังหวัดแพร่ เมื่อวานที่ผ่านมา (22 ส.ค. 2565) พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วย นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ นายภาคิน สมมิตรธนกุล นายจีรเดช ศรีวิราช นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู และนายพรชัย ตระกูลวรานนท์ เพื่อศึกษาถึงกระบวนการผลิตสุรากลั่นชุมชน และรูปแบบการดำเนินการของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านการผลิตสุราชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ข้าราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วม

จากนั้น นายอนุชา กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อศึกษากระบวนการผลิตสุรากลั่นชุมชน รวมถึงเพื่อมาสอบถาม รับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณาและนำเสนอรายงานต่อสภาฯ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีการประกอบอาชีพผลิตสุรากลั่นชุมชนที่มีชื่อเสียง อันเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาช้านาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อรับทราบข้อมูลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จากผู้ประกอบการผลิตสุรากลั่นชุมชนในพื้นที่จังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง (น่าน เชียงใหม่ พะเยา)

...

ทางด้านตัวแทนชมรมอนุรักษ์ภูมิปัญญาสุราพื้นบ้าน ตำบลสะเอียบ เสนอต่อกรรมาธิการชุดนี้ ว่า เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ขอให้เพิ่มพนักงานและเพิ่มแรงม้าในการผลิตได้ไม่เกิน 50 แรงม้า รวมทั้งขอให้พิจารณาการเก็บภาษีผลิตสุรา ซึ่งปัจจุบันมีความซ้ำซ้อนระหว่างภาษีสรรพสามิตและภาษีสรรพากร ทำให้ผู้ประกอบต้องแบกรับภาษีที่ซ้ำซ้อน และไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยขอให้เปิดเสรีสุรากลั่นชุมชน สามารถผลิตเบียร์และสุราผสมได้ เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในระดับรากหญ้า และเป็นการแข่งขันกับสุราที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงขอให้เพิ่มรายการแสตมป์ในดีกรีที่หลากหลายตรงกับความต้องการของตลาดให้สามารถแข่งขันกับสุราขาวต่างประเทศ โดยให้สามารถปรุงแต่งกลิ่น สี รสได้ เพิ่มความหลากหลายและทางเลือกให้ผู้บริโภค ส่วนการยื่นขออนุญาตฉลากเพื่อเปิดภาชนะบรรจุสุรา ขอให้แก้ไขฉลากเฉพาะบางส่วน ไม่ต้องยื่นให้กรมสรรพสามิตพิจารณาใหม่ แต่ให้ยื่นต่อสรรพสามิตในพื้นที่พิจารณาเพื่อความสะดวกและลดความซ้ำซ้อน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรับฟัง นายอนุชา กล่าวชื่นชมความเข้มแข็งของชุมชนในการรวมกลุ่มผลิตสุรา ถือว่าเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และสามารถเสียภาษีให้กับประเทศชาติปีละเป็นจำนวนมาก เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประกอบการ เกิดการจ้างงานในระดับรากหญ้าให้มีอาชีพทำกินโดยสุจริต ถูกต้องตามกฎหมาย และยังคงความอนุรักษ์ภูมิปัญญาสุราพื้นบ้านสืบทอดต่อไป ขอให้ช่วยกันส่งเสริมชุมชนให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเข้าไปส่งเสริมพัฒนาการศึกษาของบุตรหลานในชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิต วัฒนธรรมในท้องถิ่นให้อยู่อย่างยั่งยืน สำหรับข้อเสนอแนะ ทางกรรมาธิการจะนำไปพิจารณาประกอบร่างกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งประโยชน์ของผู้ประกอบการ และผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมทั้งต่อสังคม.