ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนดเงื่อนไข และการทำหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการในช่วงที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ก่อความตื่นเต้นในวงการเมือง จะมีการเลือกตั้งภายในอนาคตอันใกล้ เพื่อแก้วิกฤติการเมืองหรือไม่

ระเบียบที่สร้างความฮือฮาไม่ใช่ เรื่องใหม่ แต่เป็นระเบียบที่ประธาน กกต.ลงนาม และส่งให้รัฐบาลตั้งแต่ปี 2563 แต่รัฐบาลเพิ่งจะประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระเบียบนี้ห้ามรัฐบาลรักษาการไม่ให้จัดการประชุมอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งหลังการยุบสภา

ห้ามอนุมัติงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานรัฐ โดยไม่มีเหตุอันควร ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเอื้อประโยชน์การเลือกตั้ง พูดง่ายๆก็คือห้ามใช้คนของรัฐ และงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน เพื่อซื้อเสียงประชาชน ซึ่งเป็นการเอาเปรียบพรรคคู่แข่งที่ไม่มีอำนาจรัฐเหมือนรัฐบาล

ข้อห้ามข้างต้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นระเบียบที่ออกตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ กกต.ไม่ได้ออกระเบียบก่อนการเลือกตั้ง 2562 เพิ่งจะออกระเบียบมาเมื่อปี 2563 หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลเพิ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 รัฐบาลยืนยันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการแต่มีอำนาจเต็ม

รัฐธรรมนูญประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2562 มีบทบัญญัติห้าม รัฐบาลรักษาการ ไม่ให้อนุมัติโครงการใหม่ๆ ไม่ให้ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ หรืองบประมาณรัฐ เอื้อการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลอ้างว่าไม่ใช่ “รัฐบาลรักษาการ” จึงทำได้โดยเสรี รวมทั้ง ประกาศนโยบายลดแลกแจกแถม แสดงว่าเคยทำผิดกฎมาแล้ว

แต่คราวนี้ รัฐบาลอาจเพิ่งสำนึกผิด หลังจากประกาศใช้ระเบียบ กกต.สดๆ ร้อนๆ และคงจะอ้างไม่ได้ว่าเป็น “รัฐบาลรักษาการ” ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง (หากจะมี) รัฐบาลคงจะยอมปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่ง กกต.ชี้แจงวัตถุประสงค์สำคัญ “เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมในการเลือกตั้ง” แสดงว่าที่ผ่านมาไร้ความเสมอภาค

...

การเผยแพร่ระเบียบควบคุมรัฐบาลรักษาการ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้คนไทยรู้ว่าระเบียบ กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลจะนำลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ได้ หรือจะนำลงเมื่อใดก็ได้ สะท้อนถึงระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่จะยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมก็ได้ ไม่ยึดก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจประชาธิปไตยแบบไทย.