ปฏิบัติการปูพรมลอบวางระเบิด เผาปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ พร้อมกัน 19 จุด กลางดึกวันที่ 17 ส.ค. คืนเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนร้าย ถือเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจรัฐ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เพราะมีการวางแผน เตรียมการก่อเหตุ เลือกลงมือในเวลาเดียวกันทุกจุด เพื่อต้องการแสดงศักยภาพตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ สร้างสถานการณ์ เขย่าขวัญให้เกิดความหวาดกลัวในพื้นที่
เป้าหมายการก่อเหตุครั้งนี้ คนร้ายเลือกไปยังร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน เสาสัญญาณมือถือ เป็นหลัก โดยลงมือในพื้นที่ทั้ง 19 จุด ประกอบด้วย จ.ปัตตานี จำนวน 2 พื้นที่ 3 จุด เหตุเกิดที่ อ.หนองจิก และ อ.ทุ่งยางแดง ส่วนที่ จ.ยะลา คนร้ายได้ลงมือก่อเหตุ จำนวน 4 พื้นที่ 6 จุด ใน อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.เมือง
และที่ จ.นราธิวาส คนร้ายก่อเหตุในหลายอำเภอ จำนวน 7 พื้นที่ 8 จุด ซึ่งจังหวัดนี้เอง ทำเจ้าหน้าที่ ประชาชน ชาวบ้าน ไม่ได้หลับได้นอน อยู่ในอาการขวัญผวา ทั้ง อ.เจาะไอร้อง อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.จะแนะ อ.รือเสาะ อ.บาเจาะ เพราะสถานการณ์รุนแรงตลอดคืนถึงรุ่งเช้า
...
โดยแต่ละพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก มีทั้งผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต ทำให้ทหาร ตำรวจ ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมนำชุด EOD เข้าเก็บกู้วัตถุระเบิด และเร่งเข้าควบคุมสถานการณ์ เพื่อคลี่คลายเหตุการณ์ให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว โดยกองทัพย้ำให้ใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลัก
ขณะที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 เร่งสั่งการให้ หน่วยเฉพาะกิจตัวเลข และจังหวัด และหน่วยประจำพื้นที่ ส่งชุด ฉก.เข้าควบคุมสถานการณ์ ควบคุมเพลิงให้สงบ รวมถึงเก็บรวบรวมวัตถุพยานเพื่อนำสู่การคลี่คลาย และใช้มาตรการทางกฎหมาย พบลักษณะการก่อเหตุ คนร้ายได้ใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะเข้ามาก่อเหตุด้วยการโยนระเบิดเพลิงใส่ วางวัตถุต้องสงสัย ทั้งด้านหน้าและภายในร้านสะดวกซื้อ ก่อนเกิดระเบิดขึ้น ซึ่งการก่อเหตุครั้งนี้มีการเตรียมวัตถุระเบิดมาเป็นอย่างดี บางพื้นที่คนร้ายแต่งตัวคล้ายกับผู้หญิง สวมฮิญาบใส่เสื้อสีดำ เพื่อหลบพรางเจ้าหน้าที่ และชาวบ้าน
การข่าวทางทหารจึงเชื่อว่า คนร้ายต้องการก่อเหตุโดยล็อกเป้าหมายยังสถานที่หน่วยงานรัฐ และพื้นที่เศรษฐกิจเป็นลำดับต้น แต่เนื่องจากอาจมีการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมจึงเบนเป้าหมายมายังร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน เสาสัญญาณโทรศัพท์ ขณะที่เป้าจริงกลุ่มก่อความไม่สงบยังหาช่องทางที่ก่อเหตุอยู่ และอาจรอจังหวะและเวลาเข้าปฏิบัติการ สร้างความหวาดกลัว
โดยทั้งหน่วยทหาร ฐานทหาร สถานีตำรวจ ธนาคาร โรงเรียน วัด และพื้นที่เศรษฐกิจ ยังละเลยไม่ได้ เพราะสถานที่เหล่านี้เป็นเป้าหมายใหญ่ในการก่อเหตุของกลุ่มคนร้าย ซึ่งหากก่อเหตุ ทำสำเร็จ จะส่งผลและสร้างความเสียหายในวงกว้างกับหน่วยงานรัฐ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เพราะจะทำให้ประชาชนหมดความเชื่อมั่น กลายเป็นความหวาดกลัว ทั้งกับ จนท. ประชาชน และชาวบ้านได้
ที่สำคัญอาจสร้างอำนาจต่อรองบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น แม้จะมีการตกลงในฉากหน้า แต่จากนั้นก็มักจะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามมา และมักอ้างเป็นการกระทำของกลุ่มอื่น
เพราะหลังการพูดคุยล่าสุดเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา นอกจากจะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง "เข้าพรรษาสันติสุข" ตามข้อเสนอของคณะพูดคุยฝ่ายไทยแล้ว พบว่าคนร้ายมุ่งสร้างสถานการณ์ด้วยการลอบยิง และลอบวางระเบิดต่อเป้าหมายอ่อนแอเชิงสัญลักษณ์ ระบบสาธารณูปโภคมากขึ้น และยึดโยงโจมตีต่อเป้าหมายระบบเศรษฐกิจ โดยการก่อเหตุเน้นสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ยังทำลายบรรยากาศของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขและทำลายความเชื่อมั่นในระบบอำนาจรัฐ
จากสถานการณ์ความรุนแรง ยังส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.รมน. ต้องออกมาแสดงความห่วงใยถึงความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ 3 จชต.หลังเกิดเหตุ พร้อมสั่งการให้ กอ.รมน.โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าตรวจสอบทุกจุดเกิดเหตุ โดยกำชับเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง อดทนอดกลั้น รอบคอบและไม่ประมาท ในการเข้าควบคุมทุกพื้นที่เกิดเหตุ โดยเน้นปฏิบัติการเชิงรุกด้านการข่าว และการดำเนินการตามกฎหมายกับทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่มีความเชื่อมโยงกันในทุกประเด็น
พร้อมกำชับให้ระวังพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน ที่สาธารณะ ให้เพิ่มความเข้มข้นการเฝ้าระวัง โดยเชื่อมโยงเทคโนโลยีให้ครอบคลุมกับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ มุ่งดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภาพรวม
"ยืนยันถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ปัญหา จชต. ที่มุ่งสันติวิธี เน้นการมีส่วนร่วม ตามกรอบกฎหมาย โดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน และยังคงเจตนารมณ์เดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขในทุกระดับ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เข้าใจ และความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ลดความหวาดระแวงต่อกัน โดยมุ่งพัฒนาพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนแบบมีส่วนร่วมไปด้วยกัน"
ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ วิเคราะห์สถานการณ์ด้วยว่า กลุ่มคนร้ายมีเป้าประสงค์ทำลายเศรษฐกิจให้เกิดเสียหาย ลดความน่าเชื่อถือของรัฐ เพราะฝ่ายความมั่นคงดูแลความปลอดภัยให้ไม่ได้ แม้จะเป็นเขตเมือง หรือร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพราะหลังเสร็จสิ้นเดือนรอมฎอน คนร้ายได้ก่อเหตุและพยายามสร้างสถานการณ์ หลายเหตุการณ์ จนนำไปสู่การติดตามบังคับใช้กฎหมายเป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิตหลายราย นอกจากนี้รัฐยังควบคุมตัวกลุ่มคนร้ายได้เป็นจำนวนมากทำให้คนร้ายโกรธแค้น ต้องการตอบโต้ฝ่ายรัฐ
ทางหน่วยความมั่นคงจึงมองฝีมือกลุ่มที่ปฏิบัติการครั้งนี้ ก่อเหตุเพื่อหวังผล "กดดัน" ให้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายรัฐบาลไทย ลงนามในเอกสารข้อเสนอกรอบการพูดคุย ที่ยังตกลงกันไม่ได้ ระหว่างคณะสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับฝั่งบีอาร์เอ็น ในข้อเสนอ "เข้าพรรษาสันติ" เพื่อยุติความรุนแรง 3 เดือน จากกลุ่มไทยพุทธในพื้นที่ ขณะที่ฝ่าย "บีอาร์เอ็น" ต้องการให้รัฐบาลไทยยอมรับเรื่องยุติปฏิบัติการทางทหารอย่างเป็นทางการ
โดยหวังผลให้ "รัฐบาล" ยกเลิกการตั้งด่านตรวจ การลาดตระเวน และการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลไทยยอมรับไม่ได้ และเชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีแนวโน้มปฏิบัติการต่อไป เพื่อกดดันรัฐบาลไทย และคณะพูดคุยฯ ให้ยอมรับข้อเสนอ
ดังนั้นจะเห็นว่า 18 ปีที่ผ่านมาในเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต วิถีประชาชน กลุ่มคนร้ายยังมุ่งต่อการทำร้ายภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจ ทำร้ายทรัพย์สิน ระบบสาธารณูปโภค เพราะหลังการพูดคุยเพียงวันเดียว คนร้ายก็ได้สังหารประชาชน โจมตีขบวนรถไฟสายสุไหงโก-ลก ลอบวางระเบิดหาดบ้านทอน จ.นราธิวาส เพื่อหลอก จนท.เข้าเก็บกู้ระเบิด ก่อนกดระเบิดซ้ำ
ที่ผ่านมาการที่ฝ่ายรัฐพยายามเข้าเจรจา เพื่อสร้างความสงบสุข สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มขบวนการ ที่พยายามก่อเหตุ มุ่งทำร้ายประชาชน และภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจ และทำร้ายระบบอำนาจรัฐ
สุดท้ายเชื่อว่า ฝ่ายรัฐต้องเข้าใช้อำนาจทางกฎหมายแบบเด็ดขาด พร้อมเร่งรัดจับกุมผู้ก่อเหตุให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนให้เร็วที่สุด และสร้างความสงบสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun