ครม. อนุมัติโครงการเยียวยาศิลปินอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 2,459 คน กรอบวงเงิน 12 ล้าน พร้อมรับทราบผลการคืนเงินกู้เหลือจ่ายของหน่วยงานรับผิดชอบ 16 โครงการ 1.7 หมื่นล้าน

วันที่ 16 ส.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการเยียวยาศิลปินที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนรวม 2,459 คน กรอบวงเงินรวม 12.29 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการจัดทำแผนความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายในโครงการตามแผนการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง   

สำหรับกลุ่มศิลปินที่ได้รับการเยียวยาในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เปิดให้มีการลงทะเบียนศิลปินผู้มีอายุเกิน 65 ปี ที่เป็นแรงงานนอกระบบและไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมในช่วงเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา จากเครือข่ายอุตสาหกรรมบันเทิงและสมาคมศิลปินพื้นบ้าน ทั้งหมด 29 สมาคม   

ทั้งนี้ มีผู้ผ่านคุณสมบัติและได้รับการเยียวยารวม 2,459 คน แยกเป็น

  • ศิลปินที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 23 จังหวัด 1,140 คน วงเงิน 5.7 ล้านบาท
  • ศิลปินที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงที่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุด 1,319 คน วงเงิน 6.59 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 3 เดือน ระหว่าง ส.ค. - ต.ค. 2565 

...


นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบรายงานผลการคืนเงินกู้เหลือจ่ายของหน่วยงานรับผิดชอบโครงการจำนวน 16 โครงการ รวมทั้งสิ้น 17,427 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คงเหลือ ณ วันที่ 2 ส.ค. 2565 เพิ่มขึ้นจาก 26,764 ล้านบาท เป็น 44,192.32 ล้านบาท แต่เมื่อหักส่วนของโครงการเยียวยาศิลปินในครั้งนี้แล้ว จะทำให้กรอบวงเงินกู้คงเหลือ 44,180.03 ล้านบาท โดยแยกเป็นเงินคงเหลือจากแผนงานฯ กลุ่มที่ 2 ช่วยเหลือ/เยียวยา วงเงิน 8,593.23 ล้านบาท และจากแผนงานฯ กลุ่มที่ 3 ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 35,586.80 ล้านบาท   

สำหรับ 16 โครงการที่คืนเงินกู้เหลือจ่าย มีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 20,001,150 โดส (Pfizer) วงเงินอนุมัติ 9,372 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 8,616 ล้านบาท เงินคืนเหลือจ่าย 756 ล้านบาท, โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี ของกรมการจัดหางาน กระทวงแรงงาน วงเงินอนุมัติ 37,521 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 27,025 ล้านบาท เงินคืนเหลือจ่าย 10,496 ล้านบาท

โครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 วงเงินอนุมัติ 34,800 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 30,344 ล้านบาท เงินคืนเหลือจ่าย 4,455 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถรับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงินอนุมัติ 166 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายจริง 86 ล้านบาท มีเงินคืนเหลือจ่าย 80 ล้านบาท เป็นต้น.