กทม. เคาะค่าโดยสารส่วนต่อขยาย BTS สายสีเขียว 2 ช่วง 14-44 บาท คาดเริ่มกลาง ก.ย.นี้ ขณะเมื่อรวมกับเส้นทางหลักสูงสุดไม่เกิน 59 บาท เล็งร่วมสภา กทม. พิจารณาสัญญา ก่อนหมดสัมปทานปี 2572
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่า สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. จัดทำโครงสร้างตารางค่าโดยสารส่วนต่อขยาย โดยใช้สูตร 14+2x เสร็จแล้ว โดยมีโครงสร้างค่าโดยสาร ดังนี้
- ส่วนต่อขยายที่ 1 สายสีลม ช่วงสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และสถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า สายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง
- ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
ทั้งนี้ จะเริ่มเก็บอัตรา 14-44 บาท รวมกับอัตราค่าโดยสารเส้นทางสัมปทานหลักตรงกลาง เก็บอัตราสูงสุดไม่เกิน 59 บาท
ขณะเดียวกัน กทม. เตรียมเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี เรื่องยกเว้นค่าแรกเข้าระบบเส้นทางหลักสัมปทานที่เรียกเก็บเพิ่ม 16 บาทได้หรือไม่ หากบริษัทไม่ยินยอม กทม. ต้องอุดหนุนค่าแรกเข้าแทนผู้ใช้บริการ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเรื่องเข้าสู่สภา กทม. ให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายประมาณกลางเดือน ก.ย. นี้
สำหรับการคำนวณอัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายโดยใช้สูตร 14+2x แทนอัตราเดิมเก็บ 15 บาท ตลอดสายนั้น นายวิศณุ ระบุว่า เป็นการจัดเก็บตามระยะทางที่ใช้บริการนั่งไกลจ่ายมาก นั่งสั้นจ่ายน้อย เป็นหลักการที่ถูกต้องตามสากลและเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ใช้หลักการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
...
พร้อมยอมรับว่า หากเปรียบเทียบค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 แพงกว่ากับเส้นทางหลัก เพราะระยะทางไกลและสถานีมากกว่า อย่างไรก็ตาม แม้จะเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 สายสีลม ช่วงสถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และสถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า สายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กทม. ยังต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี ลดลงประมาณ 900 ล้านบาท จากปัจจุบันที่อุดหนุนให้เคทีประมาณ 6,900 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ กทม. ยังร่วมกับสภา กทม. ตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ให้ขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสซีออกไปอีก 30 ปี (2572-2602) หลังจากครบอายุสัมปทานทางสภา กทม. มีความเห็นอย่างไร หากเห็นชอบก็ให้ดำเนินตามนั้น แต่ไม่เห็นชอบก็จะนำเรื่องกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร อาทิ เปิดสัมปทานใหม่ หรือจ้างเอกชนเดินรถ โดยจะพิจารณาก่อนจะหมดสัมปทานปี 2572