กระแสชัชชาติฟีเวอร์ยังแรงไม่ตก เพราะคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ใส่เกิน 100% ขยันทุ่มเทกับงานในทุกๆวัน และวิ่งชนทุกปัญหา ขนาดเข้ามาในช่วงปลายปีงบประมาณ แทบไม่เหลืองบฯให้บริหารจัดการ ยังไม่สามารถผลักดันเนื้องานที่เป็นรูปธรรมได้ แต่คน กทม.ก็ยังรู้สึกว่าผู้ว่าฯชัชชาติทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสมราคา 1.38 ล้านคะแนน

ด้วยความที่คุณชัชชาติเป็นผู้จุดประกายให้ประชาชนมีความหวังจะได้ผู้บริหารบ้านเมืองดีๆ ทำให้คนจำนวนมาก อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) มาจากการเลือกตั้งบ้าง เพื่อจะได้คนที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม การหาคำตอบที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ต้องไปดูที่ ความรับผิดชอบในการทำงานที่มีงบประมาณกำกับไว้

ผมได้ข้อมูลจาก ส.ว.อภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วุฒิสภา อธิบายถึงภาพรวมการจัดวางงบประมาณปี 2565 ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามรูปแบบการบริหารราชการ คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องถิ่น

(การบริหารราชการแผ่นดินแบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ส่วนกลางมีหัวเรือหรือผู้บริหารสูงสุดคือ ปลัดกระทรวงและ อธิบดี ส่วนภูมิภาคมี ผวจ. เป็นหัวเรือ และส่วนท้องถิ่นมีผู้บริหารเรียก “นายก” ยกเว้นกรุงเทพมหานครคือ ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งไปพ้องกับคำที่ใช้เรียก ผวจ.)

เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ภูมิภาคและท้องถิ่น จะพบว่างบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ 76 จังหวัดที่มี ผวจ.รับผิดชอบบริหารอยู่ มีเงินรวม 806,782 ล้านบาท คิดเป็น 26.03% ขณะที่งบประมาณที่ลงพื้นที่กรุงเทพมหานครมีมากถึง 1,704,115 ล้านบาท คิดเป็น 54.97% สัดส่วนเช่นนี้เป็นมาหลายปีแล้ว เราจึงมองภาพประเทศไทยโฟกัสที่กรุงเทพมหานคร เพราะงบฯพัฒนาความเจริญของเมืองกระจุกอยู่ที่นี่

...

ยิ่งไปดูรายจังหวัดจะเห็นว่างบประมาณลงพื้นที่จังหวัดมีน้อยมากเช่น จ.นครราชสีมา ได้รับงบฯอยู่ในลำดับต้นๆ มีเงินพัฒนาปีละ 24,431 ล้านบาท คิดเป็น 0.97% ของงบประมาณประเทศ หรือ จ.สมุทรสงคราม มีงบฯน้อยที่สุดแค่ 1,720 ล้านบาท คิดเป็น 0.07%

งบฯที่ลงพื้นที่จังหวัดส่วนใหญ่ส่งตรงไปให้ส่วนราชการส่วนกลางที่ไปตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดถึง 70% ที่เหลือ 30% เป็นงบฯที่ ผวจ.บริหารจากงบฯของส่วนราชการส่วนภูมิภาค และ ผวจ.มีเงินที่สามารถบริหารได้โดยตรง ที่เรียกว่าแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเฉลี่ยจังหวัดละ 400 ล้านบาท

เฉลี่ยทั้ง 76 จังหวัด ผวจ.จะบริหารงบประมาณโดยตรงจากหน่วยงานภูมิภาค บวกกับงบฯกลุ่มจังหวัด ประมาณจังหวัดละ 3,000 กว่าล้านบาท

ขณะที่กรุงเทพฯมีงบประมาณจากส่วนกลางและกระทรวงต่างๆ ลงมาถึง 1.78 ล้านล้านบาท และผู้ว่าฯ กทม.ยังมีงบประมาณของท้องถิ่น ที่บริหารได้โดยตรงถึง 78,979 ล้านบาท มากกว่า ผวจ.ถึง 26 เท่า

จากโครงสร้างดังกล่าวเห็นได้ว่าผู้ว่าฯ กทม.กับ ผวจ.เป็นฝาแฝดที่ไม่เหมือนกัน

โดยหลักการผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงย่อมกระฉับกระเฉงทุ่มเทกว่าผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ในภาพความเป็นจริงเมื่อการบริหารงบฯต่างกันถึง 26 เท่า แล้วจะเอาเงินตรงไหนไปพัฒนาจังหวัด แก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต

การกระจายงบประมาณลงพื้นที่จังหวัดให้เสมอภาค สมดุล หรืออย่างน้อยไม่ทิ้งห่างกันกับกรุงเทพฯมากเกินไปต่างหากที่สำคัญกว่าการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง เพราะจะช่วยให้เศรษฐกิจของทุกจังหวัดดีขึ้น ขับเคลื่อนไปได้พร้อมๆกัน พัฒนาเป็นประเทศร่ำรวยได้เร็วขึ้น.

ลมกรด