"กมธ.ดีอีเอส" มอบ "เศรษฐพงค์" ประสาน "GISTDA-3 สถาบันการศึกษา" ลุยเปิดแล็บอวกาศ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางให้ความรู้กิจการอวกาศทุกภาคทั่วประเทศ ชี้ช่วยพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ หวังต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี-เศรษฐกิจ นำประเทศเป็นศูนย์กลางภูมิภาคด้านอวกาศ

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.65 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการดีอีเอส เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้คณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ดำเนินการประสานงานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Laboratory) โดยตนจะทำหน้าที่ประสานงานกับทางวิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อให้ห้องแล็บดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางให้ความรู้ด้านอวกาศในภาคเหนือและภาคอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ

"ในเบื้องต้นตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ประสานไปยัง 3 สถาบันแล้ว เพื่อให้ช่วยเหลือในด้านเทคนิค เราต้องการทำให้เกิดเป็นเครือข่ายการศึกษาอย่างจริงจังในด้านกิจการอวกาศ โดยห้องแล็บนี้จะทำให้เด็กรุ่นใหม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ Climate Change รวมทั้งมีความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมมุ่งเน้นด้านการใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศ และ satellite image เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และดำเนินการโครงการ cubesat ในระดับนักเรียนและนักศึกษา" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

...

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจาก กมธ.ดีอีเอส จะขอความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) แล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาช่วยกันประกอบด้วย บริษัท ไทยคม จำกัด (Thaicom) ศูนย์สังเกตการณ์โลกเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและการพัฒนาที่ยังยืน (EOC-CCSD) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและการวิจัย (ECSTAR) ภายใต้สถาบันการบินเอเชีย (AAA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันวิจัยเพื่อการบูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ อากาศและภาคพื้นดิน (I-SAT) ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สมาคมดาวเทียมสื่อสารเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TSAT) และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เพื่อสนับสนุนบุคคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการนำมาสอนนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประเทศชาติในอนาคต

"วันนี้เราต้องเริ่มการวางฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้แล้ว เราต้องทำเพื่อให้เกิดการต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจอวกาศในอนาคต หากเรายังดำเนินการช้าหรือไม่มีการเริ่มทำในตอนนี้ เราจะตามประเทศอื่นๆไม่ทัน เสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก และหากเราทำได้ดีก็จะสามารถเป็นศูนย์กลางในด้านนี้ของภูมิภาคได้" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว