เอกชน วอน รัฐบาลอย่าฟังแต่ NGO เร่งเครื่องโครงการจะนะ รัฐแจง รับฟังความเห็นทุกฝ่าย ยัน ต้องศึกษาอย่างรอบคอบให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย เพื่อสร้างอนาคตมั่นคง ยั่งยืน โชว์ผลงานเมืองต้นแบบเบตง-หนองจิก-สุไหงโก-ลก

วันที่ 11 ก.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงข้อเรียกร้องของสภาธุรกิจจังหวัดสงขลา เมื่อ 9 ก.ค. 65 ที่ต้องการให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามแนวคิดเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ว่า ขณะนี้ทาง สศช.กำลังเข้าสู่กระบวนการจัดจ้างสถาบันการศึกษาเพื่อจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment-SEA) ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับข้อคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนที่อยากเห็นโครงการเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ และกลุ่มผู้ที่ยังมีความกังวลอยู่ในบางเรื่อง ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือ การทำการศึกษาให้รอบคอบและเป็นไปอย่างมีส่วนร่วม โดยสถาบันที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและเมื่อได้ข้อสรุปก็ขอให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน เพื่อจับมือกันเดินสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นางสาวรัชดา ยังได้กล่าวถึงโครงการเมืองต้นแบบอื่น ที่ได้ขับเคลื่อนไปก่อนหน้าภายใต้โครงการใหญ่ของรัฐบาลที่มีการศึกษาอย่างรอบคอบและผ่านการะบวนการการมีส่วนร่วม โดยตั้งเป้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจชายแดนใต้ ให้แต่ละจังหวัดมีเมืองต้นแบบในการพัฒนาบนฐานความโดดเด่นของทรัพยากรและความพร้อมของพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย 1) เมืองต้นแบบ อ.เบตง จ.ยะลา เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน 2)เมืองต้นแบบหนองจิก จ.ปัตตานี เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน และ 3) เมืองต้นแบบสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ

...

นอกจากเมืองต้นแบบ อ.เบตง ที่เศรษฐกิจขยายตัวจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก็เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน โดย ศอ.บต.ได้ทำการส่งเสริมการปลูกมะพร้าว ปาล์ม และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ สำหรับประชาชนที่มีที่ดินว่างเปล่า ส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเลสำหรับประชาชนริมชายฝั่ง ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อสำหรับเกษตรกรที่สนใจ ขณะนี้มีแผนการขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิ ตามความต้องการของตลาด อีก 6 แสนไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงด้วย การส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเลประเภทปูดำ ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง นำร่องกว่า 30 ชุมชนในปีที่ผ่านมาให้ผลผลิตแล้วกว่า 30 ล้านบาท มากไปกว่านั้นยังมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่ฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งเป้าการผลิตเดือนละไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัว ขณะนี้ภาคเอกชนไทยจังหวัดชายแดนภาคใต้และภาคเอกชนจากประเทศซาอุดีอาระเบียจะมีการลงทุนร่วมกันในระยะต่อไป

ด้านเมืองต้นแบบสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมืองการค้าชายแดนระหว่างประเทศ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างชายแดน โดยการพัฒนาและยกระดับด่านพรมแดน ภายหลังเปิดด่านเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเดินทางผ่านด่านพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำ ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. - 26 มิ.ย. 2565 จำนวนกว่า 26,000 คน โดยเฉพาะการผลักดันเขตการค้าปลอดภาษีที่มีความพร้อมในการดำเนินการ แต่ยังติดปัญหาระหว่างราชการ ก็จะพร้อมผลักดันให้การทำงานที่เป็นรูปธรรมในระยะ 2-3 เดือนต่อจากนี้ เชื่อมั่นว่าจะทำให้ธุรกิจการค้าในพื้นที่มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับธุรกิจการค้า ท่องเที่ยว การบริการ โรงแรม และสถานบันเทิง

“นายกรัฐมนตรีเข้าใจในความเห็นต่างของแต่ละภาคส่วน อย่างไรก็ตามขอให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้มั่นคง ดังนั้น การนำโครงการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่จึงเป็นเรื่องจำเป็น และจะได้รับการผลักดันบนพื้นฐานการวางแผนอย่างรอบคอบ สอดรับกับความต้องการของคนในพื้นที่ รัฐบาลยืนยันให้การสนับสนุนในทุกเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแน่นอน” นางสาวรัชดา กล่าว.