นพ.ทวีศิลป์ เผย ที่ประชุม ศบค.วันนี้ ยังไม่ได้พูดให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น รับ ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ผู้ติดเชื้อรายใหม่ อาจพุ่งสูงขึ้น เดือนก.ย.อาจพีกสุด แต่จะลดในเดือน พ.ย.

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 8 ก.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงข่าวภายหลังการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้พิจารณา เรื่องการขับเคลื่อนการบริหารจัดการโควิด-19 หลังการระบาดใหญ่ โดยยังไม่ได้พูดว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยืนยันว่าเป็นเป้าหมายของทางรัฐบาลที่วันหนึ่งจะไปสู่เรื่องดังกล่าว โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอแผนเข้ามา เพื่อ moving to Covid-19 Endemic โดยมี 4 มาตรการ คือ สาธารณสุข การแพทย์ กฎหมาย และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ที่จะขอความร่วมมือทุกคน

โดยมีการคาดการณ์กันว่า สถานการณ์การพบผู้ป่วยและการเสียชีวิตหลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) อาจจะเกิด Small wave ขึ้นมาได้โดยขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน การสวมหน้ากาก การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม รวมถึงลักษณะของเชื้อ คือ BA.4/5 โดยเราได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้มา 2 ปีกว่า จึงขอความร่วมมือประชาชน โดยนายกฯ ยังต้องเน้นย้ำ เรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เรื่องภูมิคุ้มกัน การรวมกลุ่มก้อนทั้งหลาย ถึงแม้จะมีการผ่อนคลาย แต่อยากขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ให้ช่วยดูแลประชาชนในภาพรวมด้วยกัน เพื่อไม่ให้เจอ Wave ที่สูงกว่านี้

...

ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ อาจจะมีพุ่งสูงขึ้นได้ ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป โดยสามารถดูได้จากกราฟผู้ป่วยรายใหม่ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรายสัปดาห์ โดยอาจจะเป็น Wave ที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนกันยายน แต่เดือนพฤศจิกายนจะมีแนวโน้มลดระนาบลงมา หากประชาชนทุกคนช่วยกันฉากทัศน์ดังกล่าวก็อาจจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ เช่นเดียวกับเรื่องเสียชีวิต

นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เสนอ 4 กิจกรรม เรื่องการฉีดวัคซีน ต่อที่ประชุม เพื่อให้ ศบค.อนุมัติ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินงานกัน คือ 1.การประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง 2.การเตรียมการบริหารจัดการโควิด-19 เป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวังแทนโรคติดต่ออันตราย 3.มาตรการดำเนินการเมื่อโรคโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และ 4.การติดตามประเมินผล

ส่วนเรื่องเกณฑ์การพิจารณาความรุนแรง จากช่องสีแดง ได้เปลี่ยนเป็น ช่องสีขาว โดยจะโยงไปถึง การจัดซื้อยา วัคซีน การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยนายกฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาทางรัฐส่งงบประมาณไปอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐจะต้องดูแล แต่จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านในเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่างๆ โดยยืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชน ก็มีความพร้อมที่อยากจะช่วยภาครัฐ อีกทั้งทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องมีการปรับตัวเพื่อนำไปสู่การใช้สิทธิ์ฉุกเฉิน ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือยูเซป ที่ไทยมีอยู่แล้ว เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่าน เกิดความลื่นไหลไปได้อย่างดี.