“อุตตม” ชี้ เป็นความท้าทายของรัฐบาลช่วงวิกฤติซ้ำซ้อน แนะ 2 แนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ต้องบริหารจัดการให้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ
วันที่ 6 ก.ค. 2565 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความคิดเห็นผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กถึงเรื่องเงินเฟ้อ ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยเดือน มิ.ย. 2565 สูงขึ้นถึงร้อยละ 7.66 และเมื่อย้อนดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่เดือน ม.ค. อยู่ที่ร้อยละ 3.23 เดือน ก.พ.อยู่ที่ร้อยละ 5.28 เดือน มี.ค. ร้อยละ 5.73 เดือน เม.ย. ร้อยละ 4.65 และเดือน พ.ค. ร้อยละ 7.10
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งชี้ว่าประชาชนยังต้องเผชิญกับความเดือดร้อนเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับต้นทุนที่สูงต่อไป ที่สำคัญผลกระทบนี้ก็ยังอาจขยายวงกว้างเร็วกว่าที่คาด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทันต่อสถานการณ์ แต่นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานด้วยตัวเอง และคณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผลวิเคราะห์ผลกระทบ จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกมิติ
นายอุตตม ระบุต่อไปว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นที่คณะกรรมการดังกล่าว รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งวางมาตรการที่เหมาะสม และกำหนดแนวทางขับเคลื่อนให้ตรงเป้า มีผลจริงจังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการประเด็นสำคัญ คือ วิกฤติซ้ำซ้อนที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด-19 ราคาพลังงานที่พุ่งสูง ภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ โดยเฉพาะการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ที่บางขณะมีความจำเป็น แต่ต้องใช้เงินที่กู้มาอย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง ประกอบกับการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นกำลังทำให้ความยืดหยุ่นและทางเลือกในการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจปากท้องประชาชนของรัฐบาลกำลังมีข้อจำกัดยิ่งขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นความท้าทายสำคัญยิ่งของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ที่กำกับดูแลแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลควรมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้
...
ประการแรก การดูแลประชาชนและผู้ประกอบการยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง แต่ขณะที่การคลังมีข้อจำกัดมากขึ้น รัฐบาลควรพิจารณากำหนดชุดมาตรการอย่างรอบคอบให้ตอบโจทย์ โดยคำนึงถึงการจัดลำดับความเร่งด่วน ความจำเป็นในการดูแลแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในลักษณะต่างๆ ให้ชัดเจน
ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ด้านการลงทุนและอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความสมดุล ระหว่างการดูแลสภาวะเงินเฟ้อขาขึ้น เช่น ด้วยนโยบายการเงินที่จะนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น กับการดูแลสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ด้วยมาตรการด้านการคลังต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้จริงและต่อเนื่อง ผู้ประกอบการอยู่รอดและมีโอกาสเติบโต
“ผมหวังว่าคณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีความอ่อนไหวสูงและเปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ จึงต้องมีการบริหารจัดการความท้าทายที่เรากำลังเผชิญให้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ”