ข่าวเครื่องบินขับไล่พม่าที่บินล่วงล้ำน่านฟ้าไทยในพื้นที่ อ.พบพระ จ.ตาก ในระหว่างที่มีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยง ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐบาล มองว่าไม่ได้คุกคามความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด และมีความสัมพันธ์อันดี ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่และพม่าขอโทษแล้ว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ โฆษกกองทัพอากาศไทยแถลงว่า เครื่องบินไม่ทราบฝ่ายบินเข้ามาในดินแดนไทย หลังจากที่เกิดการสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน กองทัพอากาศมีคำสั่งให้เครื่องบินขับไล่แบบเอฟ–16 จำนวน 2 เครื่องบินขึ้นทันที

ฝ่ายรัฐบาลอาจจะมองว่า การบินล่วงล้ำน่านฟ้าไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ควรทำให้เกิดความขัดแย้งถึงกับต้องใช้อาวุธ ควรรักษาสัมพันธ์อันดีต่อกันดีกว่า แต่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ (พรรคไทยรักไทย) มองว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก การรักษาสัมพันธ์อันดีต้องทำ แต่ต้องรักษาเกียรติภูมิของประเทศด้วย

การส่งเครื่องบินรบบินล่วงล้ำน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีสัมพันธ์อันดี ไม่ใช่เรื่องเล็กแน่ เพราะเป็นการล่วงล้ำดินแดน นายนพดลเห็นว่าฝ่ายไทยควรยื่นประท้วง และที่อ้างว่าพม่าขอโทษแล้ว ไม่ทราบว่าใครเป็นคนขอโทษใคร ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าขอโทษผู้นำรัฐบาลไทย ที่ชอบรัฐประหารด้วยกันหรือไม่

ในบรรดา 10 ประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน อาจถือได้ว่าไทยใกล้ชิดกับพม่าที่สุด เพราะมีพรมแดนติดต่อกันกว่า 1,400 กม. และการปกครองประเทศก็ใกล้เคียงกัน รัฐบาลทั้งสองประเทศต่างเริ่มต้นด้วยรัฐประหาร ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง นักประชาธิปไตยย่อมเข้าใจในนักประชาธิปไตย

นักเผด็จการหรืออำนาจนิยม จึงต่างเข้าใจในรัฐอำนาจนิยมด้วยกันอย่างที่ พูดกันว่า “มองตาก็รู้ใจ” รัฐบาลไทยน่าจะมีบทบาทสำคัญ ในการนำพม่ากลับสู่ภาวะปกติ จากที่กลายเป็นสงครามกลางเมือง เป็นการสู้รบกันระหว่างกองทัพฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลังประชาชน รวมทั้งกองกำลังกะเหรี่ยงที่ชายแดนตาก

...

รัฐบาลไทยในฐานะผู้เข้าใจรัฐบาลเผด็จการพม่า น่าจะเป็นแรงกดดันสำคัญผ่านทางอาเซียน สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราช อาณาจักร ในการกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตย ด้วยการเจรจากับฝ่ายต่างๆที่ขัดแย้ง ตามฉันทามติของอาเซียน โดยให้ชาวพม่าเป็นผู้ชี้ขาดด้วยการเลือก.