ผู้ว่าฯ กทม. ถก กมธ.คมนาคม จ่อโอน “ตร.จราจร” ขึ้นตรง กทม. เผยปัญหาหนักใจ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” รวมตั๋วใบเดียว พ่วงหนี้แสนล้าน จ้างเอกชนเดินรถ แจงยิบปมค่าโดยสารตลอดสาย 59 บาท จ่อถก ธงทอง 2 ก.ค.

วันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธาน กมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระที่สำคัญ เพื่อพิจารณาแนวนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดย กมธ.เชิญ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. เข้าชี้แจงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ อาทิ กรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ข้อเสนอแนวคิดเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาทตลอดสาย เป็นต้น

โดย นายโสภณ กล่าวว่า ที่เชิญนายชัชชาติมาเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการการคมนาคมทั้งระบบ ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของผู้ว่าฯ กทม. อยากฟังว่านายชัชชาติจะทำอะไรบ้าง กมธ.จะได้ช่วยสนับสนุน หากติดขัดเกี่ยวกับกฎหมายประการใด เพื่อให้การทำงานเดินไปได้ ถ้าความเห็นตรงกัน ผู้ว่าฯ กทม.สามารถตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกับ กมธ.ฯ ในการศึกษาการคมนาคมของ กทม.

...

ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า นโยบายด้านคมนาคม เป็นนโยบาย 1 ใน 9 ด้านของ กทม. เกี่ยวกับการสัญจร เราเตรียมจะทำระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับตำรวจ จะมีกล้องควบคุมสภาพการจราจรเชื่อมโยงไปถึงการจ่ายใบสั่งหรือค่าปรับ และยังมีการปรับปรุงสภาพถนน โดยจะดึงเทศกิจมาช่วยการจราจรใน กทม. ในอนาคตอาจมีแนวคิดโอนตำรวจจราจรมาขึ้นตรงกับ กทม. แต่ยังมีภารกิจที่ยังเกี่ยวพันกันอยู่ ต้องดูความพร้อมด้วย กทม.ได้มีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงนำร่องมาแล้ว ส่วนระบบขนส่งมวลชน กทม.มีแนวคิดเดินรถเมล์เองในบางจุด เพื่อเสริมร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดย กทม.จะขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อเดินรถเสริมในบางเส้นทางร่วมกับ ขสมก. โดยเตรียมเพิ่มจำนวนรถเมล์สำหรับผู้พิการด้วย

“ส่วนปัญหาที่หนักอกที่สุดคือ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.จะมีรถไฟฟ้าในการดูแล 2 สายคือ 1. รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และช่วงพระโขนง-พระราม3 เลียบทางด่วนรวมอินทราอาจณรงค์-พระราม3 และ 2. สายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ขณะนี้มีแนวคิดว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะ กทม.ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญ หาก กทม.เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเพิ่ม ก็จะกลายเป็นว่าแยกจากระบบขนส่งรวมจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถ้าสามารถรวมให้เกิดตั๋วราคาเดียวกัน หรือตั๋วร่วม และมีเจ้าของเพียงผู้เดียว เหมือนอย่างฮ่องกง หรืออังกฤษ ดังนั้นรถไฟฟ้า 2 สายที่ กทม.ดูแล จะเจรจาว่าสามารถให้รัฐบาลดูแลเพียงผู้เดียวได้หรือไม่” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำลังคลี่คลายปัญหาอยู่ เนื่องจากสัญญาจะหมดในปี 2572 แต่บังเอิญมีการต่อสัญญาล่วงหน้าออกไปอีกจากปี 2572-2585 ในการจ้างเอกชนเดินรถ เมื่อมีสัญญาผูกพันกับเอกชนแล้ว ต้องไปดูเงื่อนไขว่า เราจะทำอะไรเกินจำเป็นไม่ได้ รวมทั้งมีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไป แล้วโอนมาให้ กทม. รวมกับหนี้ที่จ้างเดินรถประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่ยังค้างชำระ แต่ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าจะแบ่งจ่ายอย่างไร นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็คงต้องดูแลต่อไป

“ส่วนข้อเสนอให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเพดานไม่เกิน 59 บาทตลอดสายว่า รถไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนขยายที่ 1 เราเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนไข่แดงเก็บค่าโดยสาร 44 บาท แต่ส่วนขยายที่ 2 ไม่เคยเก็บเลย แต่ไม่ได้ฟรี เนื่องจาก กทม.ต้องจ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงเสนอให้ขยายเพดานเป็นไม่เกิน 59 บาท ในทั้ง 3 ส่วน ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาระบุ มีประชาชนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งหากเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายในส่วนนี้ อาจจะไม่ค่อยแฟร์นั้น ยืนยันว่า แนวคิดการเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ในส่วนขยายที่ 2 เท่านั้น สำหรับข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ให้เก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 44 บาท จึงเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ในส่วนไข่แดงเก็บ 44 บาทก็ขาดทุนแล้ว นอกจากนี้แนวคิดตั๋วร่วม อย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าได้ เพราะตั๋วร่วมเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคา ปัจจุบันมีการใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพียงใช้บัตรเครดิตก็สามารถใช้บริการได้ทุกที่” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ต่อมาภายหลังหารือแล้วเสร็จ ในเวลา 12.00 น. นายโสภณ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เราอยากทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. คือมาเอกซเรย์ปัญหาและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานใน กทม. โดยทาง กมธ.จะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยทางผู้ว่าฯ กทม. จะส่งคนมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการด้วย

ขณะที่ นายชัชชาติ กล่าวว่า การทำงานของ กทม.ต้องประสานกับหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลด้วย เพราะหลายอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา รวมทั้งกฎหมายต่างๆ บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับแก้เพื่อให้กฎหมายที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์คน กทม.ได้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ กมธ.เชิญมา เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ และการตั้งอนุกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้เลย ส่วนเรื่องปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้า โดยตนจะพบ นายธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด (เคที) ในวันที่ 2 ก.ค.นี้