ย้อนอดีต 8 ปี บนเก้าอี้นายกฯ...คงจำกันได้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษอดีตนายกฯ ได้บอกกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ เช่นกันว่า “ผมพอแล้ว”

หลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯมาครบ 8 ปี และกำลังจะก้าวไปสู่ปีที่ 9 โดยพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลในยุคนั้นได้ส่ง พล.อ. ชาติชายไปพูดคุยและให้ดำรงตำแหน่งต่อไป

“ผมพอแล้ว”...

พล.อ.เปรมกล่าวสั้นๆเพื่อปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว

8 ปี บนตำแหน่งผู้นำประเทศนั้น ถือว่านานพอสมควรและดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานทางการเมืองที่ทั่วโลกนำไปใช้กัน

อย่างสหรัฐอเมริกาได้กำหนดเอาไว้ว่า ประธานาธิบดีของเขาสามารถอยู่บนตำแหน่งได้แค่ 8 ปี คือ 2 สมัยระยะแรก 4 ปี จากการเลือกตั้งและอีก 4 ปี หากชนะการเลือกตั้ง

ด้วยห้วงเวลา 8 ปี นั้นสามารถพิสูจน์ความสามารถในความเป็นผู้นำประเทศได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นการให้โอกาส “คน” อีกด้วย

4 ปี แรกอาจจะยังไม่ได้เนื้องานเข้าเป้าในบางคนก็ให้โอกาสอีก 4 ปี เข้ามาสานงานต่อ หรือหากบางคน 4 ปี ได้เนื้องานดีแล้วก็สามารถต่อยอดไปอีก 4 ปี เพื่อความสมบูรณ์

ที่สำคัญก็คือคนคนหนึ่งมีเวลาทำงานอย่างเต็มที่ 8 ปี ถือว่าพอสมควรแล้ว มากไปกว่านี้ก็หนักเกินไป

เช่นกันประชาชนในฐานะผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งคนเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำประเทศในช่วง 8 ปี ก็คงจะพอใจแล้ว

นานไปกว่านี้ก็จะเกิดอาการ “เบื่อ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมนุษย์

พล.อ.เปรมนั้นท่านคงรู้ตัวดีเมื่อมองความเป็นไปบนตำแหน่งนายกฯ แม้จะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์พิสูจน์ได้ประชาชนพึงพอใจ

แต่ก็มีคนอีกส่วนหนึ่งชักเริ่มไม่พอใจ เกิดอาการเบื่อหน่ายต้องการให้คนอื่นเข้ามาทำงานทำหน้าที่แทนบ้าง

...

อีกทั้งถ้าทำหน้าที่ต่อไปก็คงไม่ได้งานอะไรเพิ่มเติมมากไปกว่านี้

การแสดงสปิริตไม่รับหน้าที่ต่อไปจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสร้างความพอใจให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่ยอมยกตำแหน่งให้ด้วยการยกมือสนับสนุน

ทุกอย่างจึงทำให้การเมืองราบรื่นเดินหน้าต่อไป

พล.อ.เปรมจึงได้รับการยอมรับ แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน ปีหน้าก็จะครบเทอม 4 ปี ต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่

แต่เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกฯมาตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจทำให้อยู่บนตำแหน่ง 8 ปี เช่นเดียวกัน

และถ้าจะเป็นต่อก็ต้องมาด้วยระบบการเลือกตั้ง คือมีพรรคการเมืองให้การสนับสนุนและชนะการเลือกตั้ง

ไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมองเห็นหรือรู้สึกเหมือนกับ “ป๋าเปรม” หรือไม่?

แต่ที่เห็นและเป็นอยู่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังต้องการที่จะเป็นนายกฯต่อไป ซึ่งก็มีทั้งมวลชนที่สนับสนุน แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เห็นด้วย

วัดความนิยมที่โพลสำรวจความเห็นของประชาชนนั้นลดลงเป็นลำดับ

นี่เป็นสัจธรรมทางการเมืองด้วยคำว่า “มิเห็นโลงศพมิหลั่งน้ำตา”.

“สายล่อฟ้า”