สนธิรัตน์ ชี้ ยังไม่เห็นนโยบายแก้ปัญหาน้ำมันที่ชัดเจนและตรงจุด แนะยกเป็นวาระแห่งชาติ ด้าน อดีต ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จี้ รัฐบาลตระหนัก 5 ข้อสำคัญ อย่าประมาทหลังประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น
วันที่ 26 มิ.ย. 2565 ที่ทำการพรรคสร้างอนาคตไทย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย นายนริศ เชยกลิ่น โฆษกพรรค และดร.นพ.จรุง เมืองชนะ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงแบบบูรณาการ เสนอยกเรื่องน้ำมันเป็นวาระแห่งชาติ
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันแพงส่งผลกระทบอย่างทวีคูณ ขณะที่แนวนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังขาดการบูรณาการและบริหารเชิงรุก พรรคสร้างอนาคตไทย จึงขอเสนอให้มีการยกเรื่องน้ำมันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เนื่องจากมองว่าราคาน้ำมันดิบยังคงไม่ลดลงง่ายๆ และจากข้อมูลการวิเคราะห์ของหน่วยงานในต่างประเทศชี้ว่ามีแนวโน้มของการแกว่งตัวไปถึงปีหน้าและบางสำนักคาดการณ์ จะไต่ระดับขึ้นไปแตะ 120-180 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานไม่ควรแก้ปัญหาแบบ รูทีน เนื่องจากกลไกที่รัฐบาลมีอยู่ในวันนี้ ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา ทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบทะลุ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนความหวังเรื่องขอให้โรงกลั่นนำส่งกำไรลดภาระกองทุนน้ำมันอาจทำได้ไม่ง่าย และอาจได้ ไม่เท่าอย่างที่คิด ฉะนั้นวันนี้ กระทรวงพลังงานต้องมีแผนบูรณาการแก้ปัญหาเชิงรุก และแผนระยะยาวที่ชัดเจน
...
นอกจากนี้ การแก้ปัญหาน้ำมันแพงอย่างเดียวไม่อาจตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชน ทางออกเดียวที่ต้องทำคือยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ แล้วบูรณาการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่กระทบเป็นลูกโซ่จากปัญหาดังกล่าว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เช่น กระทรวงพาณิชย์ต้องมีมาตรการเร่งด่วน ในการแก้ปัญหาสินค้าที่พาเหรดกันขึ้นราคา กระทรวงคมนาคมต้องวางมาตรการรองรับเรื่องภาคขนส่งสินค้า และการขนส่งสาธารณะของภาคประชาชน ขณะที่กระทรวงการคลังต้องพิจารณาเรื่องการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ และพร้อมต่อการแบกรับได้เท่าไร
“วันนี้การแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันยังขาดการบูรณาการร่วมกัน ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องประชาชนได้ ผลกระทบเรื่องน้ำมันแพงมันเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องประชาชน เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ ดังนั้น การแก้ปัญหาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน แต่วันนี้ ทั้งกระทรวงพลังงาน พาณิชย์ คลัง และคมนาคม ยังคงต่างคนต่างเดินเพราะปัญหาผลกระทบต่างๆ มาจากปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันก็ยากที่จะแก้ไขให้ตอบโจทย์ความเดือดร้อนของประชาชนได้” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ด้าน ดร.นพ.จรุง กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น อนุญาตให้ประชาชนดำเนินชีวิตและเดินทางได้อย่างปกติแล้ว เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคที่ติดต่อโดยง่ายและมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ ดังนั้น จึงขอเรียกร้อง 5 ข้อหลักสำคัญที่รัฐบาลควรจะต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องโดยไม่ละเลย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด 19 ที่อาจจะกลับมารุนแรงสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้
1. เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเก็บข้อมูลการป่วย การตาย และการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคชนิดนี้ให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเฝ้าระวังเชิงรุกและเชิงรับ ตลอดจนประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนในระยะยาว และผู้ป่วยที่มีอาการป่วยโควิดเรื้อรัง
2. เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันสื่อสารสร้างความเข้าใจอย่างทั่วถึง โดยใช้สื่อที่หลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนชราหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหลาย ซึ่งยังพบว่ายังมีอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตอีกหลายร้อยคนในแต่ละวัน
3. รัฐควรสนับสนุนและแนะนำให้ประชาชนยังคงสวมหน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์เจลล้างและทำความสะอาดมือ และรักษาระยะห่างในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังแม้ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือยังรับไม่ครบ ตลอดจนผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพราะอาจนำเชื้อมาแพร่ได้
4. กระทรวงสาธารณสุขควรทบทวนการรักษาโดยการเลือกใช้ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งได้รับ การพิสูจน์แล้วอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ควรยุติการใช้ยาต้านไวรัสที่นานาชาติเลิกใช้แล้วเพราะมีประสิทธิภาพต่ำเมื่อเทียบกับยาต้านไวรัสตัวอื่นที่สามารถจัดซื้อจัดหาได้
5. รัฐควรสนับสนุนส่งเสริม และติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน่วยงานผู้วิจัยพัฒนา การพัฒนาบุคลากร อย. ผู้ควบคุมกำกับ หน่วยโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทบทวนมาตรการการจัดซื้อจัดหาและการสำรองวัคซีนล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้ในทางกฎหมาย เพื่อยกระดับศักยภาพด้านวัคซีนและยาชีววัตถุ และความมั่นคงด้านวัคซีนและยาที่มีความสำคัญในระยะยาว