สภาฯ ผ่าน ม.106 พ.ร.บ.ตำรวจ คะเเนน 286 ต่อ 70 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะเเนนเสียง 6 ถกเดือด อยากให้ตัดข้อความ "นายใช้อาวุธกับลูกน้องได้ถ้าสุจริต"  

วันที่ 24 มิ.ย. เมื่อเวลา 14.20 น. ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ถึงมาตรา 106 ซึ่งกมธ.เขียนไว้ว่า “เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์การรักษาวินัยและปราบปรามข้าราชการตำรวจผู้ก่อการกำเริบ หรือเพื่อบังคับข้าราชการตำรวจผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตน ผู้บังคับบัญชาอาจใช้อาวุธหรือกำลังบังคับได้ และถ้าได้กระทำการโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ช่วยเหลือไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา” ทำให้ถูกสมาชิกสงวนคำแปรญัตติโดยขอให้แก้ข้อความหลายคน อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน แปรญัตติขอให้ตัดคำว่า “อาวุธ” ออก

ขณะที่พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ ขอแก้ไข ให้เพิ่มเติมคำว่า “แต่ต้องไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต” และมีสมาชิกหลายคน สงวนความเห็นขอให้ตัด มาตรา 106 ออกทั้งมาตรา อาทิ นายวิชา มหาคุณ กมธ.วิสามัญฯ ในฐานะอดีตกรรมการ ป.ป.ช. นายนพดล เภรีฤกษ์ ในฐานะตัวเเทนกฤษฎีกา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.และพ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ

...

นายวิชา อภิปรายว่า เห็นว่า แม้ฝ่ายตำรวจ และกมธ.เสียงข้างมาก เห็นว่ายังจำเป็นต้องใช้ระบบที่ลูกน้องต้องเชื่อฟังนายอย่างเคร่งครัดอยู่ การบอกว่าถ้ากระด้างกระเดื่อง หรือลุกขึ้นต่อต้าน อาจจะต้องถูกผู้บังคับบัญชาจัดการด้วยความรุนแรง ใช้ได้ทั้งอาวุธ และกำลัง โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาถ้าสุจริต แต่คำว่าสุจริต ตามพจนานุกรมแปลว่าความประพฤติถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แต่การใช้อาวุธ ใช้กำลัง แม้แต่กับบุคคลโดยทั่วไป ก็ถือว่าอาจจะขัดกับทำนองคลองธรรมได้แล้ว แต่นี่ให้กระทำได้กับลูกน้องของตน สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นเป็นพฤติกรรม หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมขององค์กรก็ว่าได้ เพราะเมื่อครั้งที่ตนดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวกับศาล และป.ป.ช. พบว่า มีนายจำนวนมาก ที่ถือตนว่า ตนเป็นนายแล้วลูกน้องจะโต้เถียงไม่ได้เลย ดังนั้นจึงปรากฏสิ่งที่เป็นคดีความตลอดเวลาว่า ลูกน้องฆ่านาย นายทำร้ายลูกน้อง ลองคิดดูเหมาะสมกับการปฏิรูปหรือไม่

นายวิชา อภิปรายว่า เขาพูดกันมาว่า ตำรวจเป็นผู้ใช้อาวุธ แต่ในระบบสากลนั้น เช่น ที่อังกฤษ ไม่ให้ตำรวจใช้อาวุธ ให้ใช้แต่กระบองด้วยซ้ำไป ซึ่งเราไม่ต้องไปเป็นประเทศอารยะขนาดนั้น ขอเพียงว่า เราอย่าเปิดช่องให้นายใช้ความรุนแรงกับลูกน้อง ด้วยวิสัยของอารยประเทศ และอารยชน จึงไม่ควรให้เขาดูหมิ่นดูแคลนด้วยการดำรงหลักการในเรื่องการคุ้มครองโดยใช้ความรุนแรง อนุญาตให้ใช้อาวุธใช้กำลังได้เช่นนี้ เห็นว่ามันมิใช่การปฏิรูป ทำให้จุดมุ่งหมายที่จะปฏิรูปประเทศในด้านการสร้างองค์กรตำรวจที่ดีสำหรับคุ้มครองประชาชน สำหรับการสืบสวนสอบสวนที่ดี ต้องเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่าให้มีรอยด่างนี้เกิดขึ้นเลย ด้านพล.ต.ต.สุพิศาล ท้วงติง ว่า ให้อำนาจเจ้านายมากเกินสมควร ในเรื่องวินัยหากกระด้าง กระเดื่อง ก็ปลดไป ไม่จำเป็นต้องหยิบเอาอาวุธขึ้นมาเพื่อสร้างอำนาจเฉกเช่นผู้ที่จะยึดหรือใช้กำลังบังคับ อยากให้ประธานกมธ.วิสามัญฯ ตอบว่า ใช้อาวุธนี้ บังคับขนาดไหนถึงจะถือว่าสุจริต ช่วยตอบด้วย

ด้าน พ.ต.ต.ชวลิต อภิปรายว่า ตนขอให้ตัดออกเพราะไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ เลย ที่จะให้อำนาจผู้บังคับบัญชาให้อาวุธกับผู้ใต้บังคับบัญชา การละทิ้งหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ มีความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 104 วงเล็บสามอยู่แล้ว ซึ่งมีโทษปลดออก ไล่ออก มีมาตรา 106 รังแต่จะทำให้การบังคับบัญชาและการบริหารงานแย่ลง ยกตัวอย่าง ตำรวจคอมมานโด ที่ต้องสู้กับคนร้ายที่มีปืน ถ้าลูกน้องหน้างานประเมินแล้วว่าเสี่ยงจริงๆ เข้าไปไม่ได้ หัวหน้าต้องเชื่อใจลูกน้อง ไม่ใช่สั่งให้เขาไปตาย เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่เอาอาวุธไปจี้ลูกน้องเสียเองให้เขาทำตามคำสั่ง การที่มีอำนาจเช่นนี้ ไปกดดันลูกน้องมาก เกิดลูกน้องยิงสวนใส่หัวหน้าขึ้นมาจะทำอย่างไร มาตรานี้ไม่เป็นประโยชน์ต่องานตำรวจไหนๆ เลย ต้องตัดออกสถานเดียว มีไว้ก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ที่แสดงความป่าเถื่อน

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ส.ว. ในฐานะกมธ.วิสามัญฯ เสียงข้างมาก ชี้เเจงว่า ตนคิดว่าคนในที่ประชุมแห่งนี้ ไม่มีใครอายุมากกว่าบทบัญญัตินี้ ซึ่ง พ.ศ.2476 กฎหมายวินัยทหาร มาตรานี้เกิด จากนั้นพ.ศ. 2477 กฎหมายวินัยตำรวจมาตรานี้เกิด ทหารและตำรวจถือเป็นกองกำลังที่ต้องใช้อาวุธ ต้องมีวินัยอย่างเด็ดขาด ในบทบัญญัติมีคำว่า จำเป็น คำว่าโดยสุจริต และคำว่าสมควรแก่เหตุ 90 ปีแล้วที่กฎหมายนี้มีมา พ.ร.บ.ตำรวจแต่ละฉบับก็ลอกมาตรานี้มาตลอด อาจจะบอกว่าล้าสมัย แต่ถามกลับไปว่า หากเก่าแก่ไม่ดีจริงจะอยู่มาได้อย่างไร แล้วจำเป็นอย่างไร เช่น เหตุการณ์เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. นำกำลังเข้าไปแก้สถานการณ์เหตุการณ์ฉุกเฉินในห้างเทอร์มินอล 21 โคราช ผู้ที่ก่อเหตุเป็นระดับมือปืน มีอาวุธสงครามในมือ ก่อนเข้าไปในห้างยิงคนตายมาเป็นรายทาง จึงต้องนำกำลังเข้าไป

"กำลังที่เข้าไปนั้นทุกคนมีลูกมีเมีย คิดถึงลูกเมียหมด เข้าไปรู้ความเสี่ยงในอนาคต ทุกคนทิ้งอาวุธหมด เหลือ ผบ.จักรทิพย์คนเดียวเข้าไปแก้สถานการณ์ นั่นคือเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรานี้เข้ามา แต่ไม่ใช่ว่าจะสร้างความแตกแยก สร้างความดุดันให้ผู้บังคับบัญชา มันอยู่ภายใต้กฎหมายที่สมควรแก่เหตุ หากเกินแก่เหตุก็ติดคุกอยู่ดี มาตรานี้จึงนำสิ่งที่ผมเรียนมา 4 ปีมาใส่ในมาตรานี้ เป็นยอดคาถาของวินัย"

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กมธ.ชี้เเจงเสร็จสิ้น ที่ประชุมรัฐสภา ลงมติเห็นด้วยกับมาตรานี้ ไปด้วยคะเเนน 286 ต่อ 70 งดออกเสียง 6 ไม่ลงคะเเนนเสียง 6

ต่อมาเวลา 15.57 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้สั่งปิดประชุม ตามที่ตกลงกับสมาชิกว่า การประชุมในวันศุกร์ จะปิดประชุม 16.00 น. เพื่อให้สมาชิกลงพื้นที่

ทั้งนี้ รัฐสภา ถกพ.ร.บ.ตำรวจ วันที่ 5 ตั้งแต่มาตรา 77 จนถึงมาตรา 118 พิจารณาได้ 41 มาตรา จึงเหลืออีก 54 มาตรา จาก 172 มาตรา และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 ก.ค.