“ประยุทธ์” ย้ำต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติพลังงาน เผยหลัก 3 ประการแก้ปัญหา ชี้ รัฐบาลทำได้ดีมากพอควร หลัง Fitch Ratings คงอันดับไทย BBB+ การเงินการคลังแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 มิ.ย. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2565 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งก่อนเปิดประชุมว่า ทุกท่านทราบดีเรามีปัญหาด้านพลังงานมากพอสมควร ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เราจำเป็นต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด แต่มีเรื่องหนึ่งที่น่ายินดี คือการจัดอันดับของฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ เป็นมาตรฐานทางการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ ถือได้ว่าเราได้แก้ปัญหามาอย่างระมัดระวังมากที่สุด ในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ และ Stakeholders (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ที่เกี่ยวข้อง สามารถอยู่ในกรอบและรักษาวินัยการเงินการคลังไว้ได้เป็นอย่างดี ขอขอบคุณกรรมการทุกคน

ต่อมาเวลา 15.00 น. ภายหลังประชุม พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมพิจารณากิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการบริหารงานด้านพลังงานหลายเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราคาน้ำมันแพงหรือไม่แพงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องพลังงานในภาพรวมทั้งหมด มีหลายเรื่องเพื่อทราบ ความก้าวหน้าในการดำเนินการและปัญหาเหตุติดขัดต่างๆ ที่ต้องปรับรูปแบบของการใช้พลังงานของเราให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์เพื่อใช้แหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน เพราะค่าแก๊ส ค่าน้ำมันแพงขึ้น โดยรายละเอียดกระทรวงพลังงานจะชี้แจงอีกครั้ง 

...

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องพลังงานทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยแต่เกิดกับทุกประเทศทั้งโลกในปัจจุบัน หลายกลุ่ม หลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ดังนั้น หลัก 3 ประการของเรา คือ ปัจจัยพลังงานที่แพงขึ้นในวันนี้ เราต้องศึกษา ทำความเข้าใจว่าปัจจัยมาจากไหน จากภายนอกหรือภายใน เกิดขึ้นทั่วโลกหรือไม่ หรือไทยประเทศเดียว

“เพราะฉะนั้นผมก็ยืนยันว่าทุกประเทศที่มีการนำเข้าต้นทุนพลังงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ของเราก็ทราบดีอยู่แล้ว เรามีพลังงานของเราเองเท่าไร แหล่งพลังงานในประเทศ ทั้งทางบก ทางทะเล อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งรัฐบาลก็พยายามที่จะหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อทดแทน เพื่อแก้ปัญหานี้ในอนาคตอย่างยั่งยืน ก็เป็นเรื่องของการพิจารณาต่อไป ในส่วนตรงนี้เราก็จะต้องแก้ปัญหาให้ได้”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อถึงการแก้ปัญหาว่า 1. เราจะต้องดูแลความมั่นคงเสถียรภาพพลังงาน ไม่ให้เกิดการขาดแคลนหรือขยายตัว เพื่อให้การประกอบการธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

2. เราจะต้องดูแลราคาพลังงานไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจนมากเกินไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ก๊าสหุงต้ม ซึ่งมีผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนในวงกว้าง วันนี้ราคาน้ำมันของไทยถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยังต่ำ อยู่ในลำดับที่ 7 หรือ 8 จาก 10 ประเทศอาเซียน

3. เราจะดูแลช่วยเหลือครอบครัวหรือกลุ่มเปราะบาง ผ่านมาตรการใดบ้าง เช่น มาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นรายกิจกรรม รายผู้ประกอบการ และจะต้องรักษาสมดุลการใช้เงินต่างๆ เหล่านี้เพื่อช่วยเหลือประคับประคองพลังงานและการเจริญเติบโตเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินการคลังเพื่อเติบโตให้ได้ในอนาคต ถ้าเราเป็นภาระมากเกินไป วันหน้าทุกอย่างจะย้อนกลับที่เราอีก เพราะฉะนั้นเราต้องเดินอย่างระมัดระวังที่สุด

“สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกใจบ้าง ถูกใจบ้าง แต่วันนี้เราก็ต้องรับฟังผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ซึ่งให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางด้านการเงินการคลังของไทยอยู่ในเกณฑ์ระดับสูง คือ BBB+ เช่นเดียวกับก่อนเกิดโควิด-19 ก่อนเกิดปัญหาพลังงานในขณะนี้ด้วยซ้ำไป แสดงว่าเราดำเนินการมาได้ดีมากพอสมควร ยืนยันตรงนี้ พยายามจะทำให้ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง”