เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ แนะบริหารความเสี่ยงคือหัวใจ หนุนดูแลภาคการผลิตรับมือ Stagflation ถามมีมาตรการรับมือหรือยัง บอกกู้เงินมาแจกในโครงการกระตุ้นกำลังซื้อไม่เหมาะสมในช่วงนี้
วันที่ 21 มิ.ย. 2565 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวถึงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับสูงขึ้น ที่เรียกกันว่า Stagflation ซึ่ง “อาจจะ” เกิดรอบนี้ มีสาเหตุต่างจากที่เคยเกิดขึ้นช่วง 40 กว่าปีก่อน และต้องรับมือด้วยวิธีการต่างกัน เนื่องจากเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ทั่วโลกเกิดสภาพ Stagflation จากการที่ธนาคารกลางต่างแก้ไขโดยเลือกวิธีขึ้นดอกเบี้ยสูงมากเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ส่งผลให้ธุรกิจเสียหายมาก จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติการเงิน แต่ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาพร้อมกับการเกิดภาวะเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่นำมาสู่ 3 ปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิด Stagflation ได้แก่ 1. แพ็กเกจอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ไปเน้นการเพิ่มดีมานด์หรือความต้องการซื้อในตลาด แต่อาจทำอย่างไม่เหมาะสม
2. ขณะที่ผู้ผลิตสินค้า (ซัพพลาย) เผชิญข้อจำกัดในการผลิต ขาดวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) และขาดแรงงานจากผลของการล็อกดาวน์ช่วงโควิด
3. สงครามรัสเซียกับยูเครนที่มากระทบซ้ำเติม ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่ต้นทุนการผลิตและดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นส่งผลให้ระดับราคาสินค้าปรับเพิ่มต่อเนื่อง
นางนฤมล ชี้ให้เห็นว่า หากถามว่าเกิด Stagflation รึยัง ไม่สำคัญแต่ที่สำคัญคือ ถ้าเกิดสภาพ Stagflation ครั้งนี้ มีนโยบายรับมือหรือไม่ และต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้นการใช้นโยบายทางการเงินด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่สาเหตุได้ การบริหารความเสี่ยงด้วยความเข้าใจเป็นหัวใจสำคัญ ที่จำเป็นต้องมองในภาพใหญ่ การบริหารนโยบายการคลังและนโยบายเศรษฐกิจที่ควรเข้าใจ คือ การอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นดีมานด์ (อุปสงค์) ไม่ต้องทำมากเหมือนสองปีที่ผ่านมาแล้ว ค่อยๆ ให้ดีมานด์กลับเข้าใกล้ภาวะปกติมีผลดีมากกว่า การกู้เงินมาแจกในโครงการกระตุ้นกำลังซื้อจึงไม่เหมาะสมในช่วงนี้
...
นอกจากนั้น ต้องหันมาให้ความสำคัญกับฝั่งอุปทานหรือซัพพลาย ดูแลอุตสาหกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงาน และต้องให้มั่นใจได้ว่าฝั่งซัพพลายจะไม่หยุดชะงักติดคอขวด ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม