ครม. อนุมัติ สธ. ปรับลดซื้อวัคซีน Astra Zeneca เหลือ 35.4 ล้านโดส จาก 60 ล้านโดส และเพิ่มจัดซื้อ LAAB ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หนุนจุฬาฯ พัฒนาวัคซีน ChulaCov19

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เปลี่ยนแปลงรายละเอียดสาระสำคัญของการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยจำนวน 60 ล้านโดส (Astra Zeneca) ในปี 2565 โดยปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา จากเดิม 60 ล้านโดส กรอบวงเงิน 18,762.5160 ล้านบาท

เป็นการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 35.4 ล้านโดส กรอบวงเงิน 11,069.8845 ล้านบาท เพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี้ออกฤทธิ์ยาว (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส กรอบวงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท ซึ่งทำให้กรอบวงเงินโดยรวมของโครงการปรับลดไป 123.41 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 18,762.5160 ล้านบาทเหลือ 18,639.1073 ล้านบาท พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือน ก.ย. 2565 เป็น ธ.ค. 2565 โดยให้กรมควบคุมโรค บริหารการจัดการและการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เพียงพอสำหรับประชาชนภายในประเทศและไม่เหลือทิ้ง

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล
ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล

...

โฆษกรัฐบาล ระบุต่อไปว่า ในปี 2565 ประชากรในประเทศมีความต้องการวัคซีนโควิด-19 ลดลง ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีวัคซีนที่ได้รับจากการบริจาคจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้วัคซีนสำรองในประเทศเพียงพอ กรมควบคุมโรคจึงพิจารณาปรับแผนการจัดซื้อวัคซีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับลดจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาจาก 60 ล้านโดส เป็น 35.4 ล้านโดส ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 บริษัทแอสตราเซเนกา ได้ส่งมอบวัคซีนแล้ว 13.2 ล้านโดส และจะมีแผนรับมอบ 11.2 ล้านโดสภายในปี 2565 ส่วนที่เหลืออีก 11 ล้านโดส คาดว่าจะได้รับมอบภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตหากมีการติดเชื้อแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เกิดภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้จากวัคซีนได้เหมือนกับคนปกติ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) 257,500 โดส มุ่งใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 3 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะและผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง จะช่วยป้องกันการป่วยได้ถึง 83% อีกทั้งกรมควบคุมโรค จะมีการปรับแผนรับมอบวัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ความต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ภายในประเทศ และลดการสูญเสียกรณีวัคซีนหมดอายุด้วย

พร้อมกันนี้ ครม. ยังอนุมัติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 (ChulaCov19 mRNA) เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนรับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเป็น ธ.ค. 2565 มอบหมายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและผลิตวัคซีน ChulaCov19 mRNA ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงยังช่วยยกระดับห่วงโซ่การผลิตวัคซีนภายในประเทศ และลดความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคอุบัติใหม่ของประเทศด้วย.