ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 11 คน เต็มไปด้วยถ้อยคำที่ดุเดือดเผ็ดร้อน ถ้าเป็นจริงตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา รัฐมนตรีสมควรติดคุก หรืออย่างน้อยที่สุดต้องพ้นจากตำแหน่ง มีคนที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันถึง 10 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดนข้อหารุนแรงที่สุด

นายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาปล่อยให้ทุจริตเฟื่องฟูสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไร้ประสิทธิภาพและล้มเหลว ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขยายผลไปถึงปัญหาการเมืองและอาชญากรรม ไร้ภูมิปัญญา ขาดภาวะผู้นำที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้นำที่พิการทางสมอง ยึดติดอำนาจ ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพประชาชน ทำลายระบบรัฐสภาและประชาธิปไตย

อีก 2 ป. คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ก็โดนกล่าวหาคล้ายๆกัน ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตของหน่วยงานที่กำกับดูแล ถ้าฝ่ายค้านแพ้มติ เพราะเป็นเสียงข้างน้อย แต่หลายข้อหาน่าจะส่งต่อไปให้ ป.ป.ช.ไต่สวน และฟ้องร้องศาลฎีกาได้

เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวน ถ้ามีมูลความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้ฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจในการวินิจฉัย

ถ้าเป็นข้อหาเกี่ยวกับการทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ ป.ป.ช.ส่งสำนวนการไต่สวน ต่ออัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าเป็นข้อหาฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัยข้อหาฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหม่

ศาลฎีกาเพิ่งจะพิพากษาอดีต ส.ส.หญิงชื่อดัง จากพรรครัฐบาลในความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง นอกจากให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว ยังเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งใดๆตลอดชีวิตเป็นผลจากการครอบครองที่ดินของรัฐกว่า 600 ไร่ ซึ่งเป็นเกมยอดนิยมของนักการเมือง

...

แต่มีปัญหาว่า ถ้าหากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีทำลายระบบรัฐสภา หรือทำลายหลักการประชาธิปไตยจริงตามญัตติที่ฝ่ายค้านกล่าวหา ว่ามีการทำลายหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐ อันเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย กลไกในการตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จะมีความอิสระและกล้าหาญที่จะตรวจสอบหรือไม่.