นายกฯ ขอความร่วมมือ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล-เบนซิน เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลังประชุมหารือมาตรการลดผลกระทบ พร้อมขยายเวลามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่จะหมดสิ้นมิ.ย.นี้ ออกไปอีก 3 เดือน 

วันที่ 16 มิ.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ เวลา 15.25 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการลดผลกระทบของประชาชนอันเนื่องมาจากราคาพลังงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้หารือมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ วิกฤติราคาพลังงานที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนิน 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว ซึ่งบางมาตรการใกล้จะครบอายุของมาตรการ โดยที่ประชุมได้พิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มของปีนี้ ที่เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่า ค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 6.2% แต่แนวโน้มทั้งปี เศรษฐกิจยังคงจะเติบโตได้จากการเปิดภาคการท่องเที่ยว แต่ปัญหาหลักในวันนี้ คือ ราคาพลังงานและค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง จึงได้นำเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยบางส่วนเป็นเบื้องต้น ดังนี้

การต่ออายุในส่วนของมาตรการที่ใกล้จะหมดอายุ เช่น การให้ความช่วยเหลือเรื่องก๊าซเอ็นจีวี สำหรับรถแท็กซี่ การให้ส่วนลดในการซื้อก๊าซแอลพีจีสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน ให้คงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร ที่จะต่อถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565

...

มาตรการเรียกเก็บกำไรส่วนหนึ่ง จากค่าการกลั่นน้ำมัน ที่กระทรวงพลังงานมีอำนาจดำเนินการได้ตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีการอุดหนุนราคาดีเซลและราคาก๊าซต่างๆ ที่ประมาณการ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน จะมีสถานะกองทุนติดลบอยู่ที่ 9 หมื่นกว่าล้านบาท โดยกระทรวงพลังงาน ขอความร่วมมือจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ในการขอให้นำส่งกำไรส่วนหนึ่ง ที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติราคาน้ำมันแพง จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพื่อเป็นการช่วยเหลือกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม ถึงกันยายน 2565 โดยเป็นการเก็บจากการกลั่นน้ำมันดีเซลส่วนหนึ่งประมาณ 5,000–6,000 ล้านบาท ต่อเดือน และเรียกเก็บจากการกลั่นน้ำมันเบนซิน ที่จะเรียกเก็บน้อยกว่าดีเซล ซึ่งคาดว่าจะเก็บในส่วนของเบนซินได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยในส่วนของเบนซิน จะนำมาลดราคาให้กับผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันที ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ คาดว่า จะลดราคาได้ประมาณ 1 บาท จากราคาปัจจุบัน แต่ในส่วนของการกลั่นที่เก็บได้จากน้ำมันดีเซลจะนำเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยบรรเทาสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบอยู่

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการขอความร่วมมือจากโรงแยกก๊าซ ที่มีต้นทุนแอลพีจีที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ที่มีกำไรส่วนเกินอยู่ส่วนหนึ่ง โดยกระทรวงพลังงานจะขอให้นำกำไรส่วนเกินนี้ 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกัน คาดจะนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1,500 ล้านบาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน จะเสนอขอความร่วมมือภาคเอกชน โดยเฉพาะห้างร้านต่างๆ ได้ช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยจะมีการจัดทำรายละเอียดต่างๆ เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 21 มิถุนายนนี้

ขณะที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เป็นมาตรการเชิงภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาในประเทศสำหรับบริษัทเอกชนที่เป็นนิติบุคคลต่างๆ หักรายจ่ายสำหรับค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าเดินทาง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับอบรมสัมมนาในประเทศ รวมถึงค่าจัดงาน Event/Exhibition เมืองรอง หักภาษีได้ 2 เท่า เมืองหลัก หักภาษีได้ 1.5 เท่า ระยะเวลาตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565 โดยมาตรการดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป