หลายคนอาจจะแปลกใจที่ทราบข่าวว่า พล.ร.อ.จอห์น อควิลิโน ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเงียบๆ เมื่อต้นเดือนนี้ อีกไม่กี่วันต่อมา นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็เดินทางมากรุงเทพฯ และพบเจรจากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม

โฆษกกระทรวงกลาโหมเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยกระดับการฝึกซ้อมคอบราโกลด์ให้เต็มรูปแบบในปี 2566 หลังจากที่ลดลงไปในช่วงโควิด รัฐมนตรีกลาโหมทั้งสองได้ประกาศวิสัยทัศน์ร่วม 2020 ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับไทย เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รมว.กลาโหมสหรัฐฯยืนยันกระชับความสัมพันธ์ด้านทหาร

ไทยกับสหรัฐฯเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาเป็นเวลาช้านาน ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ทำสัญญาไมตรีและการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อปี 2376 จะครบ 190 ปี ในปีหน้า ไทยเคยร่วมสนธิสัญญาซีโต้กับสหรัฐฯ เคยส่งกำลังทหารเข้าไปรบในเวียดนามตามที่สหรัฐฯเรียกร้อง แต่ความสัมพันธ์ขึ้นๆลงๆ หลังจากอวสานของสงครามเย็น

สหรัฐฯเพิ่งจะกลับมาสนใจประเทศไทยอีกครั้งในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเชิญกลุ่มผู้นำอาเซียน (ยกเว้นพม่า) ไปร่วมประชุมสุดยอด ที่กรุงวอชิงตัน และต่อมาสหรัฐฯเป็นผู้นำในการก่อตั้งองค์กรร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ เรียกชื่อย่อว่า IPEF รวม 13 ประเทศ คือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

รัฐบาลไทยต้องการอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วม “ไอพีอีเอฟ” เพราะต้องการส่งเสริมการค้าเกษตรกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด แต่ต้องรักษาความสมดุลระหว่างสหรัฐฯกับจีนด้วย

...

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมไอพีอีเอฟ ซึ่งมีสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นแกนนำ รวม 13 ประเทศ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน หรือจีดีพีถึง 40% ของโลก และเชื่อว่าไทยจะรักษาความสมดุลทางการค้ากับจีนได้ ปัจจุบันไทยส่งสินค้าเข้าจีน 30.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนจีนส่งสินค้าเข้าไทย 51 พันล้านดอลลาร์

แต่ประเทศไทยต้องใช้ความระมัดระวัง ถ้าจะยกระดับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับสหรัฐฯ อาจถูกมองว่าเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ในสงครามเย็นที่อาจเกิดขึ้นใหม่จากพิษสงของการที่รัสเซียบุกยูเครน แม้ประเทศไทยจะเคยมีสัมพันธ์ด้านทหารกับสหรัฐฯมากกว่านี้หลายเท่า ถึงขนาดเป็นพันธมิตรร่วมรบในเวียดนาม แต่เป็นอดีตที่เปลี่ยนไปแล้ว.