โฆษกเพื่อไทย ชี้ บิ๊กตู่ แก้จนล้มเหลว อยู่มา 8 ปี คนจนพุ่งรวม 20 ล้าน หากทำไม่ได้ เพื่อไทยทำเอง แนะทางแก้ปัญหานี้ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” เน้นเกษตรกร และประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ

วันที่ 12 มิ.ย. 2565 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 8 ปี เหตุใดยิ่งแก้ยิ่งจน บัตรคนจนเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ทะยานสู่ 20 ล้านคนแล้วในปีนี้ นอกจากนี้ช่วงปลายปี 2563 ยังได้ตั้ง “คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ” (คจพ.) อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแผนแก้จนของพลเอกประยุทธ์ ที่ประกาศจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน ปี 2565 จะสำเร็จหรือไม่

พรรคเพื่อไทยเล็งเห็นว่า หากจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องยึดหลัก “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” พุ่งเป้าไปที่คนไทย 2 กลุ่ม คือ เกษตรกร และประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ โดยเริ่มที่

1.กลุ่มเกษตรกร พรรคเพื่อไทยยึดหลัก “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” รดน้ำที่ราก โดยต้องส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีตลาด “อาหารส่งออก” ใหญ่มหาศาล เช่น เนื้อวัว ควาย ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ อีกทั้งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรทั่วทุกภาคอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมบนผืนดินเดิม โดยพลิกเปลี่ยนจากวิถีเดิมๆ ตามความเคยชิน เช่น บนผืนดินที่เคยปลูกข้าวปีละ 2-3 รอบ เปลี่ยนเป็นปลูกข้าวโพดหลังนา หรือถั่วหลังนา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น ชดเชยการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมปีละเกือบ 10 ล้านตัน และราคาปุ๋ยกำลังพุ่งสูงกว่า 3 เท่า เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งหมดจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการเพิ่มรายได้

...

2.กลุ่มประชาชน ราคาน้ำมันที่เป็นต้นเหตุต่อค่าครองชีพสูง เพราะต้นทุนค่าขนส่งเกี่ยวข้องกับการผลิตและการดำรงชีวิตทั้งหมด ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบยังพุ่งทะยานไม่หยุด ส่วนโครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบี้ยว มีทั้งน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น จากในช่วงเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 1.35 บาท/ลิตร พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.82 บาท/ลิตร ในเดือนพฤษภาคม ตามที่สหพันธ์ขนส่งทางบกได้เคยให้ข้อมูล นอกจากนี้ยังมีภาษีสรรพสามิต ภาษี VAT และเงินเข้ากองทุน ดังนั้นในภาวะนี้รัฐต้องหามาตรการแก้ไขเร่งด่วน โดยต้องทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันและลดค่าการกลั่น เพื่อลดภาระค่าพลังงานโดยเร็ว

“เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จะมีเงินใช้จ่ายทันที เพราะโดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น จะหมุนสร้างรายได้ของผู้ขายและผู้ผลิตสินค้า เพิ่มมูลค่ารวม 3 รอบหรือ 3 เท่า รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้น รายได้รัฐจะเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องกู้มากมายเหมือนที่พลเอกประยุทธ์กำลังทำ ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำไม่ได้ เพื่อไทยจะทำให้ดู” นางสาวธีรรัตน์ กล่าว.