โฆษกพลังประชารัฐ ย้ำจุดยืนพรรคหนุนปรับค่าแรง เสนอนโยบายกระทรวงแรงงาน คาดได้ข้อสรุปในไม่ช้า หลังไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น

วันที่ 12 มิ.ย. 2565 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกรณีภาวะค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น พรรคพลังประชารัฐ และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ผลักดันและสนับสนุนมาตรการดูแลผลกระทบประชาชน อย่างเร่งด่วน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 11) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับตั้งแต่วันออกประกาศ และจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานมีฝืมือที่ถือเป็นกำลังสำคัญต่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานรวม 16 สาขา จึงถือเป็นแนวทางในการกระตุ้น ส่งเสริมให้เกิดฝีมือแรงงานในภาคการผลิตและบริการมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการตลาด โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ

“การปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือแรงงานดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพ 16 สาขา ภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานที่สอดรับกับองค์กรธุรกิจทั้งการยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) ที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและลูกจ้างมีรายได้ที่สูง”

โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องพิจารณาตามสถานการณ์ ที่ผ่านมาไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และยังมีวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาพลังงาน การดำเนินมาตรการต่างๆ จึงต้องมองในหลายมิติและต้องสมดุล เช่นเดียวกับประเด็นของค่าแรงที่ต้องคำนึงถึงทั้งต่อลูกจ้างและนายจ้าง ที่ก็ต่างประสบกับปัญหาอย่างต่อเนื่อง

...

ทั้งนี้ คงไม่สามารถที่จะเอาการเมืองมานำสถานการณ์ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐได้คิดและส่งผ่านนโยบายไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบคอบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไม่ช้า เนื่องจากไทยเริ่มมีการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบจะส่งผลให้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศทยอยกลับมาฟื้นตัว เศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลบวกต่อภาพรวมตลาดแรงงานด้วย

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 16 สาขาที่ปรับเพิ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มอาชีพช่างก่อสร้าง 5 สาขา

1. ช่างติดตั้งยิปซั่ม 450-595 บาท/วัน
2. ช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ 645 บาท/วัน
3. ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น 450-650 บาท/วัน
4. ช่างสีอาคาร 465-600 บาท/วัน
5. ช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา 475-575 บาท/วัน

กลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 4 สาขา

1. ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) 450-650 บาท/วัน
2. ช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ 430-550 บาท/วัน
3. ช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) 525 บาท/วัน
4. ช่างเครื่องถม 625 บาท/วัน

กลุ่มอาชีพภาคบริการ 7 สาขา

1. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (หัตถบำบัด) 460-575 บาท/วัน
2. ผู้ประกอบขนมอบ 400-505 บาท/วัน
3. พนักงานต้อนรับส่วนหน้า 440-565 บาท/วัน
4. พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 440 บาท/วัน
5. ช่างแต่งผมสตรี 440-650 บาท/วัน
6. ช่างแต่งผมบุรุษ 430-630 บาท/วัน
7. การดูแลผู้สูงอายุ 500 บาท/วัน