ดูเหมือน "กองทัพเรือ" จะเป็นอีกเหล่าทัพที่ส่องานเข้าในเรื่องการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และเป็นเจ้าเก่า "โจ้" นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเปิดโครงการจัดหา "อากาศยานไร้คนขับ" (UAV) วงเงินประมาณ 4.1 พันล้านบาท ไม่โปร่งใส ไร้คุณภาพ มีการล็อกสเปกรุ่น บริษัท เชื่อมโยงกลุ่มขายเรือดำน้ำ
ทั้งที่ "กองทัพเรือ" ออกมายืนยันหลายครั้งโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ UAV ใช้วิธีการคัดเลือก จากบริษัทต่างๆ ที่ได้เสนอราคาเข้ามา และมีการพิจารณาคัดเลือกข้อดีข้อเสีย และความคุ้มค่าอย่างครบถ้วน แม้แต่ขีดความสามารถของ UAV ต้องเป็นแบบที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ผ่านการยอมรับการปฏิบัติการมาแล้ว หรือ Well Proven/Combat Proven ต้องมีใช้งานในกองทัพของประเทศผู้ผลิต มีชั่วโมงบิน (ชม.)ใช้งานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ชม.บิน ได้รับรองมาตรฐานด้านการบิน
นอกจากนี้ กองทัพเรือ ได้คัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ให้มีผู้สังเกตการณ์จำนวน 4 นาย จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้น จนสิ้นสุดโครงการ
...
และจะเห็นว่าในปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้ UAV รุ่น Hermes 900 ประมาณ 11 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย สหภาพยุโรป ไอซ์แลนด์ อิสราเอล เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในจำนวนประเทศเหล่านี้ มีบางประเทศได้ถูกนำไปใช้กับกองทัพเรือ และหน่วยงานความมั่นคงในทะเล ได้แก่ กองทัพเรือชิลี และ European Maritime Safety Agency
อย่างไรก็ตาม โครงการจัดหา UAV เป็นความต้องการของ ทร.ที่จะใช้บินลาดตระเวนในพื้นที่ชายฝั่งรวมทั้งในทะเลเพื่อเฝ้าระวังป้องกันจากภัยอันตราย รวมทั้งช่วยเหลือค้นหาเรือที่ประสบปัญหาในท้องทะเล โดยเบื้องต้น มีบริษัทที่เข้าเสนอราคา จาก 5 บริษัท จาก อิสราเอล 2 บริษัท ตุรกี จีน และสหรัฐอเมริกา โดยแต่ละบริษัท มีการเสนอระบบอากาศยาน (ตัวเครื่อง) อุปกรณ์ติดตั้ง อาทิ เรดาร์ ชุดกล้อง ระบบควบคุมการสื่อสาร อาทิ ผ่านดาวเทียม สถานีควบคุมภาคพื้นดิน ชุดสัญญาณระยะไกล ระบบสื่อสารวิทยุ การฝึกอบรม
มี 5 บริษัท 4 ประเทศ ยื่นข้อเสนอ UAV จึงเปิดให้มีการแข่งขัน
ทั้งนี้ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกมาเปิดแผน การจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่ง ของกองทัพเรือ ที่ถูกกล่าวหา ไม่มีความโปร่งใสว่า ขอบเขตของงาน (TOR) สำหรับโครงการไม่มีการระบุว่า เป็นการจัดหา UAV จากประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยในขั้นรายงานขอซื้อได้กำหนดให้เป็นการจัดหาโดยวิธีคัดเลือก และกองทัพเรือโดยคณะกรรมการซื้อ ได้มีหนังสือเชิญชวนไปถึงบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ ที่มีคุณสมบัติถูกต้อง ตรงตามความต้องการทางด้านยุทธการของกองทัพเรือ จำนวน 5 บริษัท จาก 4 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ อิสราเอล ตุรกี และจีน ให้เข้ามายื่นข้อเสนอ และเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติจัดซื้อจากกระทรวงกลาโหม
การจัดหาประเมินจากคะแนนคุณสมบัติความต้องการด้านยุทธการ
การจัดหา UAV ในครั้งนี้ ได้ยึดและถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยคณะกรรมการจัดซื้อได้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ และประเมินคะแนนตามคุณสมบัติที่ได้กำหนดไว้ใน TOR อย่างครบถ้วน อากาศยานไร้คนขับ แบบ Hermes 900 HFE (High Fuel Engine) รุ่น Star Liner ของบริษัท ELBIT รัฐอิสราเอล ซึ่งพัฒนาและปรับปรุงมาจากแบบพื้นฐานของ Hermes 900 เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการด้านยุทธการของกองทัพบกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสาเหตุของการตกก็ระบุไว้ชัดเจนว่า เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบการบินด้วยความเร็วสูง (High Speed Maneuver) จนทำให้โครงสร้างมีการสั่นที่รุนแรง ซึ่งทำให้ส่วนหางเครื่องหลุดจากลำตัว และทำให้ควบคุมเครื่องไม่ได้และตกลงสู่พื้นในที่สุด ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัญหาของเครื่องยนต์แต่ประการใด
ถูกนำเปรียบเทียบชี้ของ ทร.ไทย มีการติดตั้ง Hardware และ Software และถูกกว่า
การจัดซื้อ UAV (HERMES 900) ถูกนำไปเทียบว่าราคาแพงกว่า ทอ.ฟิลิปปินส์ ข้อเท็จจริงคือ ทอ.ฟิลิปปินส์ จัดซื้อระบบ UAV มูลค่า 175,000,000.- USD หรือประมาณ 5,950 ล้านบาท ประกอบด้วย UAV 2 แบบ คือ HERMES 450 จํานวน 3 ลํา และ HERMES 900 จํานวน 9 ลํา หากแยกเฉพาะ HERMES 900 จํานวน 9 ลํา จะเป็นมูลค่า 160,000,000.- USD (5,440 ล้านบาท) ราคาระบบละ 17.77 ล้านเหรียญ (604 ล้านบาท / ลํา)
ส่วนกองทัพเรือไทย จัดซื้อระบบ UAV จํานวน 7 ลํา 120,000,000.- USD หรือประมาณ 4,004 ล้านบาท ราคาระบบล ะ 17.14 ล้านเหรียญ (582.8 ล้านบาท / ลํา) หากเปรียบเทียบเฉพาะอุปกรณ์มาตรฐาน UAV ของ ทร.ไทย ราคาเพียงลําละ 15 ล้านเหรียญ (499 ล้านบาท) ทอ.ฟิลิปปินส์ และ ทร.ไทย จัดหาระบบ UAV ซึ่งมีอุปกรณ์ประกอบชุด และความต้องการด้านยุทธการ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากเปรียบเทียบเฉพาะอุปกรณ์มาตรฐาน ท่ีท้ัง 2 ประเทศ มีเหมือนกัน ทร.ไทย ซื้อระบบ UAV ได้ในราคาที่ถูกกว่า และได้อุปกรณ์มากกว่า ราคาระบบ UAV ของ ทอ.ฟิลิปปินส์ และ ทร.ไทย เป็นราคาไม่รวมระบบอาวุธ แต่ของ ทร.ไทย มีการติดตั้ง Hardware และ Software ในอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อรองรับการติดตั้งระบบอาวุธในอนาคต ส่วนกรณีที่มีการตกของ UAV ของ ทอ.ฟิลิปปินส์ นั้นเป็นการตกขณะการบินทดสอบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้
ขอบเขต TOR เป็นหน่วยงานหรือองค์กรรัฐรับจ้างผลิตหรือจำหน่าย UAV พร้อมการบริการ
นอกจากนี้ ยังระบุขอบเขตของงาน (TOR) สำหรับโครงการได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ ไว้หลายประการ ต้องเป็นนิติบุคคลที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่าย หรือเป็นหน่วยงานหรือเป็นองค์กรของรัฐบาลที่มีอาชีพรับจ้างผลิตหรือจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับพร้อมส่วนสนับสนุนและการบริการที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งสามารถให้การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กำลังพลที่จะต้องใช้งานอากาศยานไร้คนขับได้ และต้องมีผลงานผลิตหรือจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับให้กับกองทัพของประเทศผู้ผลิตหรือกองทัพของชาติอื่นมาแล้ว ต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และหรือทรัพย์สินทางปัญญา และหรือมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นทั้งในส่วนของการออกแบบ พัฒนา และปรับปรุงโดยผู้อื่น และหรือร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งเงื่อนไขอื่นในการนำส่วนสนับสนุนและการบริการที่เกี่ยวข้องของเจ้าของลิขสิทธิ์ไปใช้งานกับบุคคลที่สาม ดังนั้น ผู้ได้รับการคัดเลือกสำหรับโครงการนี้ ซึ่งจะมาเป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือนั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติจัดซื้อจากกระทรวงกลาโหม
การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. ยึดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างพ.ศ. 60
การดำเนินโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของ "กองทัพเรือ" ทุกโครงการ ได้ยึดและถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง คำสั่งมติ ครม. และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาทุกโครงการของกองทัพเรือ ประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
โดยในส่วนของโครงการจัดหา UAV ประจำฐานบินชายฝั่งในครั้งนี้ ได้ถูกคัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ได้จัดให้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมและสังเกตการณ์ในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ ได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในระหว่างการดำเนินโครงการมาโดยตลอด ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินโครงการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น จากการมีส่วนร่วมดังกล่าว กองทัพเรือ จึงมั่นใจว่าโครงการฯ จะประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการในที่สุด
อากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่ง เพื่อรักษาอาณาเขตทางทะเล
"การจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งของกองทัพเรือในการปฏิบัติการ เพื่อรักษาสิทธิและอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทยและคุ้มครองเส้นทางคมนาคม ทางทะเลเข้า-ออกประเทศไทยให้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ในการตรวจการณ์พื้นน้ำ พิสูจน์ทราบ ชี้เป้าพ้นระยะขอบฟ้า รวมทั้งช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปราม การกระทำผิดกฎหมายทางทะเล การบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล"
ดังนั้นเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องใช้อากาศยานที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น เพดานบิน (Ceiling) ไม่น้อยกว่า 25,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด (Maximum Speed) ไม่น้อยกว่า 100 นอต ระยะเวลาปฏิบัติการบินต่อเนื่อง (Endurance) ไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง มีการใช้งานที่ผ่านการยอมรับการใช้งานมาแล้วเป็นอย่างดีโดยต้องมีชั่วโมงการใช้งานไม่น้อยกว่า 10,000 ชั่วโมง และจะต้องมีใช้งานในประเทศผู้ผลิต
ดังนั้น "ทัพเรือ" ยืนยันยังคงเดินหน้าพัฒนากองทัพเรือให้มีความทันสมัย เข้มแข็ง สามารถปฏิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคง ปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรวจสอบได้ เพื่อการดูแลอาณาเขตประเทศ รวมถึงพี่น้องคนไทยทุกคน