อีกขั้นเปิดประเทศยกระดับเศรษฐกิจประเทศนี้มีอะไรที่มันถ่วงๆกันชอบกล รัฐบาลประกาศเปิดประเทศเต็มตัวเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.65

นั่นคือการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศจนเกือบเท่าปกติหลังจากโควิด-19 ลดระดับลงอย่างน่าพอใจ

ไม่ว่าจะเดินทางเข้าประเทศหรือเดินทางออกนอกประเทศก็สะดวก เพราะลดกฎเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขอันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันโรค

เช่นกันในประเทศก็ลดพื้นที่คุมเข้มเหลือน้อยที่สุดและเปิดช่องให้ทำมาหากินกันได้อย่างที่เรียกร้องกันมา

จะเปิดบาร์ เปิดผับ คาราโอเกะ ดื่มสุราตามสถานที่ต่างๆที่เคยเข้มงวด แต่ให้ดึกสุดแค่เที่ยงคืนพอเหมาะพอควร

ตรงนี้จะได้ 2 ส่วน

1.นักท่องเที่ยวสามารถดื่มกินได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชอบบรรยากาศแบบไทยอย่างนี้ย่อมพึงพอใจ

2.ธุรกิจที่เคยซบเซา เจ๊งหมดเนื้อหมดตัว ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ หันมาทำมาหากินได้เหมือนเดิม

พูดง่ายๆว่า คืนความสุขให้กับประเทศไทยอีกครั้ง

เมื่อจะเป็นเมืองท่องเที่ยวกันแล้วก็ต้องสร้างบรรยากาศและการบริหารให้เป็นที่พึงพอใจจากนักท่องเที่ยว

อย่างที่มีการเรียกร้องให้ปิดสถานบันเทิงดึกกว่านี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐจะต้องเกาะติดและติดตามความเป็นไป

เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นกินดึกเที่ยวดึกกันอยู่แล้ว พูดง่ายๆเป็นธุรกิจกลางคืนที่ต้องเข้าใจสภาพความเป็นไป

ไม่ใช่เอาอารมณ์ความรู้สึกมาสร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่สะท้อนความจริง

เวลานี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หากสามารถเดินทางเข้ามาได้อย่างสะดวกอีกไม่นานก็ครบตามเป้าที่วางเอาไว้ได้

“อินเดีย” เป็นประเทศหนึ่งที่ชอบมาเที่ยวเมืองไทยและใช้จ่ายกันไม่น้อย ก็ต้องสนองความต้องการให้อย่างเต็มที่

...

ที่คงต้องรออีกไม่นานคือ นักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งรัฐบาลของเขายังไม่ยอมให้เดินทางท่องเที่ยว เนื่องจากปัญหาโควิด-19

เมืองใหญ่ๆอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งถึงกับต้องปิดเมืองเพื่อแก้ไขปัญหา กลายเป็นความขัดแย้งเนื่องจากความไม่พอใจที่ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ

ทำท่าจะบานปลายกลายเป็นปัญหาการเมืองระหว่างนักศึกษากับรัฐบาล

ความจริงแล้วประเทศไทยน่าจะถึงเวลาเดินไปข้างหน้าเมื่อโควิด-19 ถูกจัดการได้อย่างดีด้วยการฟื้นเศรษฐกิจกันขนานใหญ่

เปิดประเทศได้ทั้งระบบอย่างนี้น่าสบายใจได้

แต่มันเหมือนบุญมีแต่กรรมบัง เพราะปัญหาทางการเมืองที่ขัดแย้งกันไม่หยุดกลายเป็นตัวถ่วง เดินหน้าก็ไม่ได้ถอยหลังก็ไม่ได้

เห็นทีจะต้องเหนื่อยกันไปอีกนาน.

“สายล่อฟ้า”