ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากภาวะโรคระบาดร้ายแรงและเข้าสู่ภาวะ “โรคประจำถิ่น” อย่างเป็นทางการ แต่ประเทศไทยก็มี “โรคประจำถิ่น” อย่างหนึ่งที่เรื้อรังมายาวนาน นั่นก็คือ “โรคความยากจน” ทั้งๆที่ไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์และก้าวหน้า ไม่น้อยหน้ากลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียอาคเนย์
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังจัดเตรียมหลักเกณฑ์การลงทะเบียน “บัตรคนจน” รอบใหม่ แต่ยังไม่กล้าประเมินตัวเลขที่ชัดเจน คนจนในปัจจุบันมีเท่าใดกันแน่ เพราะมีทั้งวิกฤติโควิดและวิกฤติพลังงาน ทำให้คนตกงาน คาดว่าคนจนอาจพุ่งขึ้นเป็นกว่า 13 ล้าน
รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาล คสช. ที่ยึดอำนาจเมื่อ 8 ปีก่อน เคยสัญญาจะขจัดความยากจนให้สิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างสัญญาจะขจัดความยากจน มีทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งเป้าพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยังมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจ
ขณะนี้กำลังเข้าสู่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนที่ 13 2566 ถึง 2570 เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ตั้งเป้าให้คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อคน เพิ่มจาก 222,000 บาทต่อปี ในปี 2564 เป็นปีละ 300,000 บาท ถ้าได้ระดับนี้จะขจัดความยากจนได้หมดสิ้น เพราะผู้ถือบัตรคนจนมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
แต่สหประชาชาติไม่ได้วัดความยากจน หรือความร่ำรวยด้วยรายได้เพียงอย่างเดียว เมื่อปลายปี 2564 องค์การโครงการพัฒนาของยูเอ็น ได้เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง “ความยากจนหลายมิติ” ไม่น่าเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด ในกลุ่มอาเซียน จนกว่าพม่า กัมพูชาและลาว ไม่ต้องพูดถึงอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย
...
“ความยากจนหลายมิติ” ของยูเอ็น ไม่ได้หมายถึงรายได้เพียงอย่างเดียว รวมถึงการเข้าถึงสาธารณสุข การศึกษา โภชนาการที่ดีหรืออาหารที่สะอาด และความยุติธรรมในสังคม ไทยอาจจะมีรายได้ดีกว่าเพื่อนบ้านอาเซียนหลายประเทศ แต่อาจมีความยุติธรรมในสังคม หรือความเหลื่อมล้ำมากกว่า
ธนาคารโลกสำรวจพบว่าใน 30 ปีที่ผ่านมา ความยากจนในไทยลดลงจาก 65% เป็น 9.85% ระหว่างปี 2531 ถึง 2561 แต่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมถึง 90% เป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งยูเอ็นถือว่าเป็นความยากจนอย่างหนึ่ง บวกกับการที่ผู้มีอำนาจชอบระบอบอำนาจนิยม จึงทำให้ไทยจนกว่าเพื่อนบ้าน.