ไม่ล้ม..! ก็ต้องล้ม? นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และหัวหน้ากลุ่ม 16 เกริ่นนำร่องจุดยืนของกลุ่ม 16 ที่ไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ชี้ให้เห็นว่าเป็นธงหลักของฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยที่ต้องการล้มนายกฯ เมื่อใดที่รัฐบาลปล่อยผ่านโครงการที่ทุจริต โดยเฉพาะโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี

อย่างน้อยคนที่ปล่อยผ่านย่อมถูกตราหน้า

เพราะส่อทุจริตชัดเจน ยังปล่อยให้เซ็นสัญญา

นายกฯถึงได้สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสการประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ฝ่ายค้านก็หยิบมาเป็นประเด็นใหญ่อันดับหนึ่งที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ตามเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯจะยุบสภาไม่ได้ มีทางเลือกให้เดิน คือ 1.พอรู้ว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติ ไม่แน่ใจในความเป็นปึกแผ่นของพรรคร่วมรัฐบาล นายกฯก็ชิงยุบสภา เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

...

2.เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว ระหว่างนั้นมั่นใจในเสียงพรรคร่วมรัฐบาล เดินหน้าต่อไปก็เข้าไอซียูหรือตายคาสนามรบ มีทางออกประตูเดียวโดยลาออกจากนายกฯ

3.มั่นใจในเสียงพรรคร่วมรัฐบาล แต่เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว กว่าจะได้อภิปรายต้องรออีกเป็นเดือน พรรคเล็ก พรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสโชว์อิทธิฤทธิ์เต็มที่

สุดท้ายคุมเกมได้ก็ไปต่อ หากคุมไม่ได้ก็จบเกม

“ผมเคยเป็นประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค เห็นว่าถ้าไม่ยกเลิกย่อมทำให้กระทบต่อความมั่นคงด้านสาธารณูปโภค สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ

การเปลี่ยนจาก บมจ.อีสท์วอเตอร์ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคถือหุ้น 40.20% การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยถือหุ้น 4.57% ไปเป็นบริษัทเอกชนใหม่ที่ประมูลได้ ไม่เชื่อมโยงกับรัฐแค่นี้ก็ผิดหลักการ

หากอีสท์วอเตอร์หมดสัมปทานในปี 66 แล้วไม่ส่งมอบท่อน้ำที่เป็นทรัพย์สินให้ ท่ามกลางสัญญากับเอกชนรายใหม่เดินต่อไป แต่ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้

อะไรจะเกิดขึ้น ใครรับผิดชอบ เอกชนรับผิดชอบหรือไม่ จุดนี้คือมิติความมั่นคงด้านสาธารณูปโภค เป็นข้อทักท้วงที่กลุ่ม 16 ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างสมบูรณ์

ตอนนี้เป็นหน้าที่กรมธนารักษ์ ที่ดูพื้นที่ราชพัสดุใช้สร้างท่อส่งน้ำ ได้ตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบ ถ้ายังยืนยันเซ็นสัญญา ก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา”

ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภา ที่มีนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ.

เชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาชี้แจงข้อเท็จจริง ได้ข้อสรุปทำหนังสือส่งถึงนายกฯ

ควรยกเลิกการประมูลเพราะเกิดความเสียหาย

พร้อมมีข้อเสนอให้ใช้วิธีคัดเลือกเอกชนผ่านการประมูลด้วยความโปร่งใส เปิดกว้าง ตรวจสอบได้ แข่งขันอย่างเป็นธรรม ส่งผลให้รัฐได้ผลตอบแทนสูงสุดไม่ใช่ไปเขียนทีโออาร์เอื้อต่อรายใดรายหนึ่ง

จากนี้ไปจะส่งไม้ต่อให้ กมธ.ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธานฯ ตรวจสอบการทุจริตต่อ

ทีมการเมือง ถามว่า กมธ.ป.ป.ช.จะตรวจสอบทั้งหมด ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตั้งข้อสังเกตถึงการประมูลครั้งล่าสุดที่ผู้ชนะประมูลเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 25,600 ล้านบาท ผู้ประกอบการรายเดิมเสนอให้ราว 24,000 ล้านบาท จากเดิมจ่ายเพียง 552 ล้านบาท โครงการเดียวมีกำไรมากกว่า 30 ปี ถึง 23,400 ล้านบาท บนความยาวเส้นทางท่อส่งน้ำ 120 กิโลเมตร ผ่านจังหวัดชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี

นายพิเชษฐ บอกว่า กมธ.ป.ป.ช.จะตรวจสอบต่อไป เพื่อเป็นแบบอย่าง การประมูลครั้งต่อไปจะได้โปร่งใส

การประมูลครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ อยากให้กรมธนารักษ์เซ็นสัญญา คงได้เห็นคนติดคุก เป็นถึงระดับบิ๊กราชการไปฟังคำสั่งที่ไม่ถูกต้องจากเสนาบดี เคยมีบทเรียนเกิดขึ้นมาแล้ว สุดท้ายข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องติดคุก

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจากกลุ่ม 16 ได้รับประทานอาหารกับฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการทุจริต ทันทีที่รู้การประมูลครั้งนี้เอกชนได้ก็หูผึ่ง เดินหน้าหาข้อมูลเองถึงกับอึ้ง มันชัดเจนยิ่งกว่าชัดเจนอีก

แต่กลับถูก พปชร.ตั้งกรรมการสอบ โดยลงโทษตัดสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากพรรคไม่ขับพ้นพรรค อันนี้ไม่ติดใจ แต่คนในพรรคมากล่าวหาผม ทำให้เสียหาย

ฉะนั้น ผมต้องเดินให้ถึงที่สุด มันไม่มีอะไรที่เสียไปมากกว่านี้ เมื่อทำหนังสือขอ ความเป็นธรรมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้า พปชร.

ถ้ายังเมินเฉยก็ต้องเล่นให้ถึงขับออกจากพรรค

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า กลุ่ม 16 กลับไปกลับมา อยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจใหม่ บางที ก็อยู่กับฝ่ายค้าน บางทีก็สนับสนุนนายกฯ จึงถูกมองในแง่ลบ เคลื่อนไหวหาผลประโยชน์

นายพิเชษฐ บอกว่า เดิมที ร.อ.ธรรมนัสประสานให้สนับสนุนนายกฯ พอออกจาก พปชร.ก็มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ ผอ.พรรคพลังประชารัฐ มาประสานเกี่ยวกับเรื่องต่างๆที่ส่งไปถึงนายกฯ

ส.ส.พรรคเล็กอยากผลักดันโครงการต่างๆให้ถึงชาวบ้าน ติดขัดก็ประสานผ่านนายสุชาติ

ไม่ใช่อย่างที่ถูกครหามีการแจกกล้วย กล้วยไม่มีประโยชน์ เราต้องสร้างผลงานให้ชาวบ้านเห็น ถือธงนำปราบคอร์รัปชัน และกำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุ

ซึ่งเป็นสวัสดิการคนละ 3,000 บาทต่อเดือน ปี 65 มีผู้สูงอายุ 10.4 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นายกฯรับปากแล้ว ปีแรกอาจรับไปก่อน 2,000 บาท และขยับเป็นขั้นบันไดจนครบ 3,000 บาท

นายกฯเห็นชอบในฐานะที่เป็นกฎหมายการเงิน ประเดิมให้ 8,400 ล้านบาท เพื่อเพิ่มเบี้ยคนชราก่อนและรอกฎหมายผ่านภายในปีนี้

การตรวจสอบโครงการนี้เป็นหนึ่งในเงื่อนไข ของขบวนการ “ล้มตู่ชูป้อม” นายพิเชษฐ บอกว่า ไม่เกี่ยวกับนายกฯ ผมไม่สนใจประเด็นนี้ เพราะเห็นกลุ่ม 3ป. ยังรักกันดี ไม่เห็นมีอะไร

แต่เรามุ่งตรวจสอบทุจริตเกี่ยวข้องกับกรมธนารักษ์

จุดยืนกลุ่ม 16 ถือธงป้องกันและตรวจสอบทุจริต ถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายกฯ หรือรัฐมนตรีชี้แจงข้อกล่าวหาไม่เคลียร์ ก็ต้องโหวตไม่ไว้วางใจ นายพิเชษฐ บอกว่า ถูกต้อง

ถ้าชี้แจงไม่ได้และทำให้ประเทศเสียหาย ขอยืนยันในความเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่โหวตไม่ไว้วางใจ จะใช้มติพรรคมาบังคับให้โหวตไว้วางใจไม่ได้

ยามที่กลุ่ม 16 รวมพลังโหวตคว่ำรัฐมนตรีที่ชี้แจงไม่เคลียร์ แม้ผ่านด่านการอภิปรายไปได้ แต่เชื่อว่านายกฯที่ชูภาพว่าเป็นมิสเตอร์คลีน คงไม่อยากให้เสียภาพพจน์รัฐบาล คงต้องปรับออกจากตำแหน่ง

และเรายังมีพันธมิตรที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักอีก คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยเฉพาะที่เห็นตรงกันในโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี หากรัฐบาลทำไม่ถูกต้อง รับรองเจอการอภิปรายถึงขั้นหลับกลางอากาศ

30 กว่าเสียงโหวต การเมืองเปลี่ยนชัวร์

รมต.ที่รับผิดชอบก็หมดอนาคตการเมือง

“ฉะนั้น รัฐบาลล้มหรืออยู่ไม่ได้เป็นเรื่องของนายกฯ หากอภิปรายไม่มีเหตุผลจะไปล้มได้อย่างไร แม้ฝ่ายค้านบอกประเด็นนี้ล้มรัฐบาลได้แน่ ก็ต้องฟังเขาชี้แจงก่อน

หากกลุ่ม 16 และพรรคเศรษฐกิจไทย เห็นว่า โครงการนี้ประเทศชาติเสียหาย รับรองรัฐบาลคงต้องไปเอง”

สุดท้ายนายกฯคงถอดชนวนไม่เซ็นสัญญาโครงการนี้

ป้องกันไฟลามทุ่งถึงรัฐบาลและรัฐบาลก็จะอยู่ครบเทอม

ยกเว้นมีอุบัติเหตุทางการเมืองที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น.

ทีมการเมือง