“จุรินทร์” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ถกผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เวที APEC ขอ สหรัฐฯ ปลดไทยจากบัญชี WL และให้หนุนไทยเป็นแหล่งผลิตและแหล่งลงทุนผลิตวัตถุดิบป้อนสหรัฐฯ ตามนโยบาย Supply America

วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 17.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการหารือทวิภาคี (Bilateral discussions) กับนางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ปี 2564 มีมูลค่าการค้าระหว่างการ 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.77 ล้านล้านบาท ถือเป็นคู่ค้าลำดับสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยไทยได้ดุลสหรัฐอเมริกา และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกลำดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.31 ล้านล้านบาท สินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งไปสหรัฐฯ เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

...

ประเด็นที่ตนหารือกับท่านรัฐมนตรีผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ มี 3 ประเด็นสำคัญ
ประเด็นที่หนึ่ง ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาถอดไทยออกจากบัญชีจับตามอง หรือ WL (Watch List) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายนปีนี้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่ามีความคืบหน้าอย่างยิ่งในการดำเนินการจัดการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีกฎหมายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความทันสมัย และมีรายงานจากผู้แทนของสหรัฐฯที่มาติดตามความคืบหน้าการดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย รายงานไปในทางบวกที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว

ประการที่สอง ตนขอให้สหรัฐฯ สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบและแหล่งลงทุนด้านการผลิตวัตถุดิบทั้งขั้นต้นและขั้นกลางให้กับสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน ที่ชื่อว่า “ซัพพลายอเมริกา” ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ วัตถุดิบที่จะเป็นวัตถุดิบขั้นกลางในการสนับสนุนการผลิตขั้นต่อไปในสหรัฐฯ ตนได้เชิญชวนมาลงทุนที่เมืองไทย เช่น การผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนด้านวัตถุดิบเกี่ยวกับอาหาร ยา การลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น

ประการที่สาม เนื่องจากปีนี้เราเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยตนเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเขตเศรษฐกิจการค้า 21 เขตเศรษฐกิจ ขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนการออกแถลงการณ์ร่วมที่เป็นผลจากการประชุมครั้งนี้ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่มีประเด็นขัดข้อง

สำหรับประเด็นที่สหรัฐฯ หยิบยกมาคุยกับตนมีด้วยกัน 3 ประเด็นหลัก

ประเด็นที่หนึ่ง สหรัฐฯ แจ้งว่า สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของประเทศไทยในปีนี้ และสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าของเอเปค และที่สำคัญปีหน้าสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคต่อจากประเทศไทย ขอให้ช่วยสนับสนุนด้วยเช่นเดียวกัน และขอเชิญผู้แทนจากประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกับสหรัฐอเมริกาต่อไปในปีหน้า

ประเด็นที่สอง เรื่องการประชุมองค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) ขึ้นมาหารือมีความเห็นที่สอดคล้องกันในภาพรวมทั้ง 2 ประเทศต่างล้วนประสงค์ผลักดันให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า MC 12 (Ministerial Conference) เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญ เช่น การปฏิรูป WTO การจัดตั้งองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะมีความสำคัญสำหรับกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อองค์กรพิจารณาข้อพิพาทขั้นต้นได้มีคำตัดสินแล้ว ยังสามารถอุทธรณ์ไปยังองค์กรอุทธรณ์ได้ แต่ขณะนี้องค์กรอุทธรณ์ยังไม่มีการจัดตั้งขึ้น ต้องรอผลการประชุมร่วม WTO ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีความสำคัญในการช่วยยุติข้อพิพาทระหว่างสมาชิก เห็นควรให้จัดตั้งองค์กรนี้โดยเร็ว

ประเด็นที่สาม เรื่องกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และแจ้งให้ประเทศไทยและตนรับทราบ และเชิญประเทศไทยเข้าร่วมในการประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ขึ้นที่กรุงปารีส ในช่วงประมาณวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ซึ่งตนแจ้งว่าคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แจ้งความประสงค์ในการเข้าร่วมการแสดงเจตนารมณ์เจรจาต่อไป สำหรับการเชิญรัฐมนตรีพาณิชย์เข้าร่วมประชุมในช่วงที่ปารีสนั้นตนรับทราบเป็นการเบื้องต้น

อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้และวันมะรืนนี้ (21-22 พ.ค. 65) จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าเอเปค ซึ่งสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมด้วยตลอด 2 วัน ถ้ามีประเด็นอะไรเพิ่มเติมก็จะหยิบยกขึ้นมาหารือกันในที่ประชุมได้เพิ่มเติมอีกครั้ง.