เพราะประเทศไทยพัฒนาช้าเป็นเต่าคลาน รัฐบาลจึงขยันคลอดแผนพัฒนาที่นั่นโน่นออกมาจนหูอื้อตาลาย

มีทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน

มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 (2566-2570) ระยะ 5 ปี เพื่อดันพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้ล้มแล้วลุกไว

มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำระยะ 5 ปี (2563-2567) เพื่อแก้ปัญหาน้ำครบวงจร

มีแผนพัฒนาพลังงาน 5 ปี (2565-2570) เพื่อให้ประเทศไทยผลิตพลังงานใช้อย่างพอเพียง ฯลฯ

ล่าสุดที่เพิ่งคลอดผ่านที่ประชุม ครม.คือ แผนพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศระยะ 15 ปี (2565-2580) โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแม่งาน

เพื่อรองรับวิกฤติสังคมสูงวัย หลังจากประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุเกิน20 เปอร์เซ็นต์ (ในขณะที่ประชากรเกิดใหม่ ประชากรวัยเด็ก และประชากรวัยทำงานที่ลดลงๆอย่างน่าตกใจ)

“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยกับแผนพัฒนาประชากร 15 ปีของรัฐบาลเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้ประชากรผู้สูงอายุชาวไทยมีสุขภาพแข็งแรง มีจิตใจแจ่มใสเบิกบาน มีฐานะการเงินมั่นคง สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี จนถึงวาระสุดท้ายของวัยชรา

แต่...จะทำได้จริงอย่างที่ฉายหนังโฆษณาหรือไม่...??

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนตามตรงว่า...“ไม่ค่อยแน่ใจ”

พูดภาษาชาวบ้านคือ ไม่เชื่อน้ำมนต์!!

เพราะ “เป้าหมายแผนปฏิบัติการ” ที่สภาพัฒน์ชงประเคน ครม.กับ “ภาพอนาคตประชากรไทย” ที่สภาพัฒน์เสนอประกบไป

มันมีความขัดแย้งกันเอง!!

สรุปย่อๆ “ภาพอนาคตประชากรไทยปี 2571” หรืออีก 6 ปี จากนี้ไป ประเทศไทยจะมีประชากรสูงสุดไม่เกิน 67.19 ล้านคน

...

ปี 2580 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มจาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย

สวนทางกับประชากรวัยทำงานที่ลดลง 3 ล้านคนทุก 10 ปี!!

พูดง่ายๆคนไทยวัยทำงานจะหายไปปีละ 3 แสนคน!!

รัฐบาลนายกฯลุงตู่ “หรือนายกฯคนต่อไป” จะดูแลประชากรผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีฐานะการเงินที่มั่นคง มีเงินเก็บออมเพียงพอใช้จ่ายอย่างสบาย จนแก่ตายได้อย่างไร??

“แม่ลูกจันทร์” มีผลศึกษาหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับล่าสุดที่ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงเอง เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สรุปว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ถ้าอาศัยที่เขตเมือง ต้องมีเงินออมในกระเป๋า 4 ล้านบาท ถึงจะเพียงพอการใช้ชีวิตวัยชรา!!

ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในชนบทต้องมีเงินออม 2.8 ล้านบาท ถึงจะเพียงพอใช้จ่ายในช่วงชีวิตบั้นปลาย

ถ้าเอาข้อมูลสภาพัฒน์เป็นเกณฑ์ เฉลี่ยประชากรอายุ 60 ปี ต้องมีเงินออมใช้จ่ายปีละ 2 แสนบาทขึ้นไป

ปัญหาคือ 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากรผู้สูงอายุไม่มีเงินเก็บออม

แผนพัฒนาประชากรสูงอายุของรัฐบาล คงเป็นแค่แผนขายฝันระยะยาว 15 ปีซะแล้วโยม??

“แม่ลูกจันทร์”