กระทรวงมหาดไทย แจ้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศให้เทศบาลทุกแห่งเลื่อนการเลือกกรรมการชุมชนออกไปก่อน เหตุยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมสั่งให้ชุดเก่ายังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกใหม่

วันที่ 18 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยคณะกรรมการชุมชนของเทศบาล พ.ศ. 2564 มีผลตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 โดยระเบียบฯ ได้กำหนดว่าในเขตเทศบาลที่ไม่มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน เทศบาลสามารถพิจารณาจัดตั้งเป็นชุมชนได้โดยจัดทำเป็นประกาศเทศบาลจัดตั้งชุมชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกับเทศบาล ทั้งในด้านการจัดบริการสาธารณะ การแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยให้มีคณะกรรมการชุมชนที่มาจากการเลือกโดยประชาชนในชุมชน จำนวน 5-9 คน ตามที่เทศบาลประกาศกำหนด มีวาระการปฏิบัติหน้าที่คราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกกรรมการชุมชน โดยคณะกรรมการชุมชนที่ครบวาระ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการได้เลือกคณะกรรมการชุมชนชุดใหม่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการครบวาระคณะกรรมการชุมชนของเทศบาลในพื้นที่ต่างๆ และได้รับการประสานงานสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบฯ ดังกล่าว แต่เนื่องจากในขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ยังต้องเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ เช่น การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค การรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ ฯลฯ ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 44) จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งให้เทศบาลในเขตพื้นที่ทุกแห่ง เลื่อนการเลือกกรรมการชุมชนของเทศบาลออกไปก่อนจนกว่าจะมีมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป

...

สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชน คือ เป็นองค์กรในการพัฒนา การแก้ไขปัญหาและสร้างความสามัคคีของชุมชน มีหน้าที่ช่วยเหลือเทศบาลเกี่ยวกับการดำเนินงานในการจัดบริการสาธารณะในเขตชุมชนตามที่เทศบาลกำหนด เช่น จัดทำแผนชุมชน ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พัฒนาชุมชนให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมวัฒนธรรม ดูแลทรัพย์สินชุมชนและสาธารณสมบัติโดยมีโครงสร้างคณะกรรมการชุมชน 5-9 คน ประกอบด้วย
1. ประธานกรรมการ 2. รองประธานกรรมการ 3. กรรมการและเลขานุการ 4. กรรมการฝ่ายการคลัง 5. กรรมการฝ่ายปกครอง ป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย 6. กรรมการฝ่ายการศึกษา 7. กรรมการฝ่ายพัฒนาชุมชน 8. กรรมการฝ่ายสาธารณสุข และ 9. กรรมการฝ่ายสวัสดิการสังคม