“ชาญชัย” กางคำพิพากษา ลาก “ชัชชาติ” แจงปมคำนวณ 2 โครงการสุวรรณภูมิต่ำเกินจริง-เอื้อเอกชน สมัยเป็นวิศวกรที่ปรึกษา สวนอย่าเอาเลือกตั้งผู้ว่าฯ มากลบ ยันไม่เกี่ยว เล็งฟ้อง ป.ป.ช.เสียงข้างมากที่เคยมีมติยกคำร้อง
จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ จากการชุมนุมทางการเมืองในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เข้าข่ายทำให้รัฐเสียหาย แต่นายชัชชาติ ออกมาปฏิเสธ โดยระบุว่า ตนเป็นเพียงวิศวกรโครงสร้าง นั้น
วันที่ 17 พ.ค. นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก และอดีตรองประธานอนุ กมธ.ด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต ใน กมธ.วิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ส่วนตัวเป็นผู้ติดตามตรวจสอบโครงการที่มีผู้ร้องต่อ กมธ.ป.ป.ช.มาก่อน จนถูกเอกชนเจ้าของโครงการฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท ก่อนที่ศาลฎีกา จะพิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101-4102/2563 ซึ่งทราบว่า เป็นเอกสารที่ผู้ร้องนำมาอ้างอิงในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ประเด็นสำคัญไม่เพียงยกฟ้องตน เนื่องจากทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีข้อเท็จจริงเอกสารหลักฐานยืนยัน ไม่ใช่ข้อมูลที่แต่งขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งใส่ร้ายเท่านั้น ยังได้ระบุถึงความเสียหายต่อรัฐที่เกิดขึ้นจากประเมินมูลค่าโครงการของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา 2 โครงการ ที่นายชัชชาติ มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นไม่ถูกต้อง และเข้าข่ายพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ด้วย ซึ่งก็ตรงกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ ผผ 11/1525 เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2561 ที่ผู้ร้องอ้างอิงถึงเช่นกัน
...
“คุณชัชชาติพูดจริงที่ว่า ตัวเองเป็นวิศวกรโครงสร้าง แต่ก็เป็นการสารภาพไปในตัว เพราะตามคำพิพากษาศาล และคำวินิจฉัยผู้ตรวจฯ ระบุชัดว่า การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ไม่ถูกต้อง มีเจตนาเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และสร้างความเสียหายให้กับรัฐ ดังนั้น คุณชัชชาติ ในฐานะเป็นวิศวกรที่ปรึกษาของทั้ง 2 หน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับ ทอท. (บริษัท การท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) ก็ไม่สามารถปฏิเสธความเกี่ยวข้องได้” นายชาญชัย ระบุ
นายชาญชัย เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ตนเองก็อยู่ระหว่างการให้ข้อมูล กมธ.ป.ป.ช.เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในประเด็นอื่นอยู่ หาก กมธ.ป.ป.ช. จะเชิญให้ตนไปให้ข้อมูลประกอบการตรวจสอบ นายชัชชาติ ในเรื่องการประเมินมูลค่าโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการประเมินมูลค่าความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิ ก็มีความยินดี และมองว่า ผลพวงที่เกิดขึ้นจากการประเมินมูลค่าโครงการของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา 2 โครงการ ที่มีนายชัชชาติ ร่วมด้วยนั้น สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับ ทอท.มาจนถึงปัจจุบัน ที่ประเมินมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่าหลายหมื่นล้านบาท จากการลดรายได้ของ ทอท.เอง หรือการการต่อสัญญากับเอกชนหลายครั้ง โดยใช้สิทธิพิเศษในการเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งนอกเหนือจากการตรวจสอบ นายชัชชาติ แล้ว ส่วนตัวยังจะยื่นฟ้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสียงข้างมากในชุดที่เคยชี้ว่า การประเมินมูลค่าโครงการในสนามบินสุวรรณภูมิ ถูกต้อง เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยใช้คำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักฐาน ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งการยื่นฟ้อง เพราะคดีใกล้หมดอายุความแล้ว
“ส่วนตัวไม่ได้รู้จักกับผู้ร้อง และไม่ได้มีส่วนได้เสียใดๆ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้คุณชัชชาติ จะกำลังอยู่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งอยู่ แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องการทุจริต ดังนั้นจึงไม่ควรอ้างว่า เป็นเรื่องเก่า หรือผลกระทบทางการเมือง เพื่อมาเบี่ยงประเด็นการทุจริตที่เกิดขึ้น และสร้างความเสียหายให้แก่รัฐอย่างมหาศาล โดยมีผู้เสียหายจำนวนมาก ทั้ง ทอท. ผู้ถือหุ้น รวมถึงประชาชนด้วย” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย อธิบายถึงความผิดปกติในการคำนวณมูลค่าเกี่ยวกับโครงการของสนามบินสุวรรณภูมิว่า ในส่วนของการประเมินมูลค่าโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างปี 2546-47 นั้นมีความพยายามให้มูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง หรือต่ำกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กล่าวคือ สถาบันชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประเมินโครงการร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี พื้นที่ 5 พันตารางเมตรไว้ที่ 846 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ก็ประเมินมูลค่าพื้นที่จัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หรือ พื้นที่นอกดิวตี้ฟรี พื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร ไว้ที่ราว 9 ร้อยกว่าล้านบาท แต่ช่วงปี 2550 ทอท.ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาทั้ง 2 โครงการ จนถูกเอกชนฟ้องแพ่ง โดยในคำฟ้องแพ่งเอกชนได้ระบุว่า ได้ลงทุนปรับพื้นที่โครงการไปแล้วเกินกว่า 1 พันล้านบาททั้ง 2 โครงการ สอดรับกับรายงานภายใน ทอท.ที่ประเมินมูลค่า ทั้ง 2 โครงการไว้ที่โครงการละ 2-3 พันล้านบาท ส่วนการประเมินความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองนั้นกลับสูงกว่าความเป็นจริง โดยที่เอกชนผู้ประกอบการได้ประโยชน์ จนถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ตีกลับไปประเมินใหม่ เนื่องจากมีการปิดสนามบินเพียง 10 วัน แต่มีหลักฐานระบุว่า นายชัชชาติ เป็นผู้เสนอให้คำนวณ 365 วัน หรือ 1 ปี
“น่าสนใจว่า หลังถูก ครม.ตีกลับ และให้นำไปปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงไป ปรากฏว่า ทอท.ไม่นำเรื่องเข้า ครม.อีกเลย แต่เลือกที่จะใช้วิธีลดรายได้ของตัวเองลง จนทำให้เกิดความเสียหายมาถึงปัจจุบัน” นายชาญชัย กล่าว.