รมว.ดีอีเอส เผย สั่งแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ชื่อดังปิดกั้นโพสต์ปัญหาแล้ว ชี้ กฎหมายคุมแพลตฟอร์มจ่อประกาศบังคับใช้ ระบุจะสั่งเทคดาวน์เลยไม่ได้ เพราะเป็นแค่ตัวกลาง และยังต้องรอศาลตัดสิน

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นเรื่องต่อกระทรวงดีอีเอส ขอให้ร้องศาลสั่งปิดเว็บไซต์และแพลตฟอร์มขายสินค้าชื่อดังที่ปล่อยให้มีการเผยแพร่โฆษณาที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ว่า ทางกระทรวงดิจิทัลได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ได้ทราบข่าวว่ามีการโพสต์ไม่เหมาะสมในแพลตฟอร์มชื่อดัง ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากทุกช่องทาง ยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พบว่ามี 42 ยูอาร์แอลที่แชร์ข้อมูล จึงประสานทางแพลตฟอร์มให้มีการปิดกั้นไปแล้ว และจะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุดกับผู้มีความผิด และจะขอคำสั่งศาลสั่งปิดกั้นด้วยหากแพลตฟอร์มยังไม่ปิดกั้น แต่คิดว่าน่าจะปิดได้หมด ไม่มีปัญหา ฝากเตือนไปยังอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ที่จะโพสต์ข้อความ คลิปต่างๆ รวมถึงเอเจนซี่โฆษณาอยากให้มีความระมัดระวังโพสต์ที่จะกระทบความรู้สึกของคนไทย หรือผิดกฎหมาย ผิดจรรยาบรรณสื่อในการโฆษณา

ทั้งนี้จะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น นาราเครปกะเทย ที่เป็นเจ้าของโพสต์ บริษัทโฆษณา และตัวแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 3 กลุ่มนี้ ซึ่งต้องดำเนินคดีทั้ง 3 กลุ่ม ส่วนใครจะมีความผิดอย่างไรต้องดำเนินไปตามกฎหมาย สำหรับการทำความเข้าใจกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณา เป็นหน้าที่ของสมาคมโฆษณา ที่มีมาตรฐานวิชาชีพมีจรรยาบรรณต้องดูแลกันเอง เชื่อว่าเขาได้พูดคุยกันอยู่แล้ว หากเราไปใช้อำนาจรัฐก็เท่ากับไปแทรกแซง หรือทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ

...

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางฝ่ายเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act -DSA) ที่เหมือนกับกฎหมายของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อใช้มากำกับดูแลแพลตฟอร์มต่างๆ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กฎหมายที่จะดูแลเรื่องแพลตฟอร์มเราได้ร่างแล้ว เพื่อให้มีมาตรฐานสากลเหมือนในยุโรป ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกำลังยกร่างซึ่งใกล้เสร็จแล้วจะได้เข้าสู่สภา แต่อย่างไรก็ตามเรามีพระราชกฤษฎีกากำกับแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานกฤษฎีกากำลังตรวจร่าง ก่อนจะประกาศ ซึ่งจะมีการบังคับให้แพลตฟอร์มดิจิทัล อีคอมเมิร์ซต่างๆ จะต้องมาจดแจ้งการประกอบการ ต้องมีมาตรการในการควบคุมการใช้งานไม่ให้ผิดกฎหมาย หรือกระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อมีมาตรการกำกับดูแล เช่น เขาต้องมีตัวแทนในประเทศไทย มีอัลกอริธึมที่เหมาะสมในการโพสต์หรือแชร์ มีการควบคุมไม่ให้มีปัญหา กำกับดูแลโดยพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)กำกับแพลตฟอร์มดิจิทัลจะออกเร็วๆนี้ ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว กฤษฎีกาตรวจร่างยังไม่เสร็จ จึงยังไม่ได้ประกาศใช้

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เห็นด้วยว่าเราควรจะทำให้เร็ว รัฐบาลให้ความสำคัญ พยายามแก้กฎหมาย ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ตลอดเวลา แต่ต้องมีความรอบคอบ จึงต้องใช้เวลา โดยหลักการวันนี้ปัญหาใหญ่คือประชาชนจะต้องระมัดระวังในการใช้โซเชียลมีเดียในการโพสต์หรือแชร์ รวมถึงบริษัทที่ทำโฆษณา หรือผู้ขายทางออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ จะต้องมีจรรยาบรรณถูกกฎหมาย และถูกบริบทของสังคมด้วย การทำอะไรขอให้ระมัดระวัง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ส่วนประเด็นเรื่องการปิดแพลตฟอร์ม เป็นเรื่องที่จะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา โดยหลักกฎหมายแพลตฟอร์มเป็นตัวกลาง ไม่ใช่คนโพสต์ เมื่อแพลตฟอร์มทราบว่ามีคนโพสต์ หรือการให้ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย หรือทางกระทรวงทิจิทัลแจ้งไป แล้วเขาปิด หรือเทคดาวน์เขาก็จะไม่มีความผิดเพราะเป็นแค่ตัวกลาง ไม่ใช่คนดำเนินการ แต่ถ้าเขาไม่ปิด ปล่อยให้มีการโพสต์เช่นนั้นต่อไปก็จะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ก็จะดำเนินคดีพ่วงกันไปเลย จึงอยู่ที่ว่าหลังจากนี้เขาทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องดูที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อยู่ดีๆ จะไปปิดเขาเลยไม่ได้ จะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย ประเทศไทยเรามีสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน การจะไปจำกัดสิทธิ หรือไปลงโทษก็ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายก่อน คือให้ศาลเป็นคนตัดสิน จะไปปิดเลยไม่ได้เพราะกระทบสิทธิของเขา.