เป็นอันว่าประเทศไทยของเราจะยังคงมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำหรับใช้เป็นคู่มือในการพัฒนาประเทศสืบต่อไป จากถ้อยแถลงของท่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไตรศุลี ไตรสรณกุล เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ท่านรองโฆษกฯกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งล่าสุด...ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 ที่เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งมอบหมายให้สภาพัฒน์นำร่างดังกล่าวไปเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบอีกทางหนึ่ง
หลังจากนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมี พระบรมราชโองการ ให้ใช้แผนพัฒนาฉบับนี้ต่อไป
ต่อมานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ก็ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นเดียวกันนี้อีกครั้ง โดยย้ำว่าแผนฉบับที่ 13 นี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วในที่สุด
ท่านอธิบายด้วยว่า แผนพัฒนาฉบับนี้ออกแบบมาจากรากฐาน 4 ประการ...ได้แก่
1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.ความสามารถในการที่จะลุกขึ้นได้โดยเร็ว หากมีการสะดุดหกล้มเพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้ตลอด 3.เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้นำตัวเลขเป้าหมายรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อคนที่แผนเขียนไว้ว่า ในปี 2564 รายได้ต่อหัวต่อคนของคนไทยอยู่ที่ 7,097 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 227,000 บาท และจะให้เป็น 9,300 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 300,000 บาทต่อหัวต่อคน มากล่าวย้ำไว้ด้วย...ว่าท่านและรัฐบาลจะต้องพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าดังกล่าว
ส่งผลให้สื่อหลายสำนักต่างก็นำไปพาดหัวข่าวว่า “ประยุทธ์ตั้งเป้ารายได้ต่อหัวคนไทย 3 แสนบาทต่อปี”
...
อ่านข่าวนี้จบแล้ว ผมก็รู้สึกใจชื้นที่ประเทศไทยของเรายังมีการใช้ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศต่อไป
ดีกว่าที่ออกเดินไปข้างหน้า แบบไม่มีวัตถุประสงค์ เป้าหมายหรือแนวทางในการปฏิบัติที่จะนำมาใช้เป็นคู่มือในการเดินทางเอาเสียเลย
การมี “แผน” เพื่อตั้งความหวังเอาไว้ว่า เราจะต้องมุ่งหน้าไปทางนั้นทางนี้อย่างไรเสียก็ดีกว่าเดินไปดุ่มๆอย่างไม่มีจุดหมายปลายทางแน่ๆ
ดีกว่าไม่คิด ไม่ฝันหรือไม่คาดการณ์อะไรล่วงหน้าเอาไว้เลย ก้าวเดินดุ่มๆไปลูกเดียวแบบคนประมาทเลินเล่อ หรืออะไรทำนองนั้น
หลายๆท่านบอกว่ายุคใหม่เขาเลิกทำแผนกันแล้ว ไปดูประเทศพัฒนาแล้วซี ไม่เห็นมีประเทศไหนทำแผนพัฒนาประเทศกันเลย
ก็อาจจะจริงที่ว่าเขาอาจจะไม่มีการจัดทำแผน 4 ปี 5 ปี แบบเรา... แต่ลงไปดูลึกๆในประเทศเขาเถิด...ล้วนแต่มีการศึกษา มีการวิจัย มีการมองไปในอนาคตผ่านมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านสถาบันต่างๆ โดยจะมีพรรคการเมืองต่างๆหรือส่วนราชการต่างๆนำไปใช้เป็นนโยบายและเป็นกรอบเป็นทิศทางในการจัดทำงบประมาณระยะสั้นระยะยาวอยู่ตลอดเวลา
ของเราหันมาใช้วิธีการดั้งเดิม โดยจัดทำแผนครั้งละ 5 ปี ซึ่งก่อนจะทอนลงมา 5 ปี ก็ได้มองยาวไป 20-30 ปีด้วยแล้ว...ไม่ถือว่าล้าสมัยหรอกครับ
โดยเฉพาะการจัดทำแผนแบบระดมความคิดจากผู้คนในวงกว้างทั้งในกลุ่มนักวิชาการ ข้าราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ฯลฯ อย่างที่สภาพัฒน์ใช้มาโดยตลอดรวมทั้งแผนนี้ด้วย ผมว่าเป็นวิธีการที่ไม่มีวันล้าสมัยเด็ดขาด
ส่วนที่ “บิ๊กตู่” ท่านแถลงอย่างหนักแน่นราวกับว่าท่านเป็นคนกำหนดหรือทำแผนเสียเองนั้น...ก็ถือว่าให้โอกาสท่านก็แล้วกัน เมื่อแผนฉบับนี้ผ่าน ครม.ในยุคท่าน...ท่านจะอ้างโน่นอ้างนี่บ้างก็ปล่อยท่านไปเถอะ
ผมเพียงแค่จะกราบเรียนความจริงเท่านั้นว่า แผนฉบับนี้ได้มาจากระดมความคิด ความเห็นของผู้คนหลายพันหลายหมื่นคนทั่วประเทศ... เป็นความคิดที่ตกผลึกของคนที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์จำนวนมาก พอจะอนุโลมได้ว่าเป็น “แผนของชาติ” ที่แท้จริง
เป็นแผนที่ทุกฝ่ายควรจะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ... ไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ตาม...ในช่วงเวลา 5 ปีจากนี้เป็นต้นไป... ฝากไว้ด้วยนะจ๊ะ หากบุคคลท่านนั้นจะไม่ใช่บิ๊กตู่ละก็.
“ซูม”