มติครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียม ให้ปรับขึ้นค่าบริการ เพื่อให้ ปณท มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ ยันไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภค

วันที่ 26 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่นตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 พ.ศ.2547 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรสำหรับไปรษณียภัณฑ์ภายในประเทศที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด พ.ศ.2549 และปรับปรุงใหม่เป็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. ….”

โดยปรับอัตราไปรษณียากรสำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศใหม่ ดังนี้

1. จดหมาย จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) จดหมาย ประเภทซอง และ 2) จดหมาย ประเภทหีบห่อ (กำหนดเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับ UPU) โดยมีอัตราค่าบริการให้แยกประเภทซอง/หีบห่อ เป็น 2 ระยะ
1.1 ระยะแรก (พ.ศ.2565-2567)
(1) จดหมาย ประเภทซอง ยังคงอัตราค่าบริการพิกัดน้ำหนักแรกไว้ที่ 3 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม
(2) จดหมาย ประเภทหีบห่อ มีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 30 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 55 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม
1.2 ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
(1) จดหมายประเภทซอง จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 4 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม
(2) จดหมายประเภทหีบห่อ จะปรับอัตโนมัติโดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดน้ำหนักแรก 34 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักไม่เกิน 500 กรัม และมีอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท สำหรับพิกัดน้ำหนักเกิน 1,000 กรัม แต่ไม่เกิน 2,000 กรัม

...

2. ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ และพัสดุไปรษณีย์ ไม่เปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการในระยะแรก (พ.ศ.2565-2567) เป็นระยะเวลา 3 ปี และระยะที่สองจะปรับอัตโนมัติตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

3. กำหนดอัตราไปรษณียากรพิเศษสำหรับไปรษณียภัณฑ์ภายในประเทศที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีส่วนลดสูงสุดไม่เกินร้อยละ 44 จากอัตราที่ขอปรับขึ้นใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขในการใช้บริการ เช่น ฝากส่งเป็นประจำต่อเนื่อง ฝากส่งต่อเดือนตั้งแต่ 500,000 ฉบับต่อเดือนขึ้นไป มีการคัดแยกเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งต่อในระบบงานไปรษณีย์ ฝากส่งและนำจ่ายในเขตพื้นที่เดียวกัน เป็นต้น

รายละเอียดดังนี้

ปรับอัตราไปรษณียากรสำหรับบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศใหม่ ดังนี้

1) อัตราไปรษณียากรสำหรับจดหมาย ประเภทซอง จดหมาย ประเภทหีบห่อ ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ เครื่องอ่านสำหรับคนเสียจักษุ และพัสดุไปรษณีย์

2) อัตราไปรษณียากรต่ำกว่าอัตราไปรษณียากรทั่วไป สำหรับ (1) ลูกค้าฝากส่งอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง (2) เป็นจดหมาย ประเภทซอง ที่มีปริมาณงานฝากส่งต่อเดือนตั้งแต่ 500,000 ฉบับขึ้นไป (3) มีการดำเนินการคัดแยกตามรหัสไปรษณีย์ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่ออำนวยความสะดวก ในการคัดแยกและส่งต่อในระบบงานไปรษณีย์ (4) ฝากส่ง ณ ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมาก หรือที่ทำการไปรษณีย์รับจ่ายเท่านั้น (5) ฝากส่งและนำจ่ายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือฝากส่งและนำจ่ายในพื้นที่จังหวัดเดียวกันสำหรับภูมิภาค และ (6) ฝากส่งภายในเวลา 15.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ หรือภายใน 10.00 น. ของวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการประจำปี

3) อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับบริการการเงินในประเทศให้กำหนด ดังนี้


สำหรับ การปรับอัตราไปรษณียากร จะทำให้กิจการไปรษณีย์ของ ปณท มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสำหรับการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนทั่วไปได้ เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาบริการได้บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ ปณท ยืนยันว่า การปรับอัตราไปรษณียากรในระยะ 3 ปีแรก จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนแต่ประการใด เนื่องจากเป็นการปรับอัตราไปรษณียากรเฉพาะบริการประเภทจดหมาย ซึ่งภาคประชาชนส่วนใหญ่มาใช้บริการฝากส่งอยู่ในช่วงพิกัดน้ำหนัก 0-10 กรัม ซึ่งมีอัตราไปรษณียากร 3 บาท (เท่าเดิม) และแม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจสำหรับกลุ่มการเงิน กลุ่ม e-Commerce และกลุ่มขนส่งและสื่อสารก็ตาม  แต่เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญจนอาจเกิดการผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้ใช้บริการแต่อย่างใด.

ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/53945