• ภาพการจ้วงกินข้าวเหนียวมะม่วง ของ มิลลิ บนเวทีคอนเสิร์ตระดับโลก อย่างโคเชลลา เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 ถือเป็นเอฟเฟกต์ลูกใหญ่ในประเทศไทย ที่สั่นสะเทือน Soft Power ไทย ทำให้เมนูดังกล่าวขายดิบขายดี
  • ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน อย่างน้อยต้องเห็นเพื่อนของตัวเองโพสต์รูปข้าวเหนียวมะม่วงไม่ต่ำกว่า 2-3 คน หรือต้องมีคนพูดถึงและเล่นมุกถึงเมนูนี้ให้พอผ่านตามาบ้าง
  • แต่รัฐบาลกลับเหมือนขอตัวไปตั้งหลักก่อน เพราะถ้าย้อนไปกลางปีที่แล้ว “บิ๊กตู่” ถือเป็นคู่ปรับ “แร็ปเปอร์สาว” คนสำคัญ จากปม Call Out เรื่องการบริหารงานโควิด-19 จนถูกแจ้งความเสียค่าปรับ เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูแก่ดาราคนอื่นๆ ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล และทำให้เกิดแฮชแท็ก #Saveมิลลิ โด่งดังกันมาแล้ว

จุดเริ่มต้นวิจารณ์บริหารงานโควิด-19 เป็นเหตุ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 น.ส.ดนุภา คณาธีรกุล หรือ มิลลิ นักร้องและแร็ปเปอร์ ถูกนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทนายความของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ในข้อหา ดูหมิ่นโดยการโฆษณา กรณีโพสต์ข้อความตำหนิการทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถึงเรื่องการบริหารสถานการณ์โควิด-19
ที่ขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จากการบริหารผิดพลาดของรัฐบาลเรื่องการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และปล่อยให้ประชาชนเดินทางกลับช่วงสงกรานต์ ประกอบกับการบริหารวัคซีนไม่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน จนเกิดภาพผู้ป่วยหลายรายนอนเสียชีวิตกลางถนน

...

แค่ 1 ปี คนที่โดนรัฐฟ้อง กลับสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกให้ไทย

ประชาชนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจ รวมถึงศิลปิน-ดาราหลายคนออกมา Call Out วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก จนเป็นชนวนเหตุให้นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร อดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นรายชื่อศิลปินจำนวน 9 คน ถึงพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ พวกศิลปิน ดารา ที่ออกมา Call Out เนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำที่อาจผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.ก.สถานการณ์การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่คนที่โดนหมายเรียกเป็นคนแรกกลับเป็น “มิลลิ” จนเกิดแฮชแท็ก #Saveมิลลิ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว

คดีนี้จบลงด้วยการเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท ขณะที่ “มิลลิ” ยอมรับว่าข้อความในทวิตเตอร์บางส่วนมีคำไม่สุภาพ แต่ยืนกรานว่าจะยังคงเดินหน้า Call Out ต่อไป

ผ่านมาได้ประมาณ 1 ปี “มิลลิ” สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้ประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการเป็นศิลปินหญิงเดี่ยวคนแรกของไทยที่ขึ้นเวทีคอนเสิร์ต โคเชลลา ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการถ่ายทอดสดผ่าน ยูทูบ ไปทั่วโลก เป็นที่ทราบกันดีว่าศิลปินที่ได้ขึ้นเวทีนี้ ต้องได้ขึ้นชื่อว่าคัดมาแล้วและฝีมือต้องถึง


ทำ Soft Power แบบแก้ต่างให้ไทยไม่พอ ดึงเพื่อนศิลปินกินข้าวเหนียวมะม่วงด้วย

“มิลลิ” ขึ้นแสดงครั้งนี้ ในนามค่ายเพลง 88Rising สร้างความฮือฮาตั้งแต่เพลงแรก ด้วยเพลงแร็ป ที่แนะนำตัวเองว่าเป็นคนไทย มาจากไทย พร้อมแก้ต่างให้คนไทย ที่มักถูกต่างชาติเข้าใจผิดว่าต้องขี่ช้างไปโรงเรียน ด้วยท่อน “One things, I didn’t ride an elephant คนไทย ไม่ได้ขี่ช้าง รถไฟฟ้าบีทีเอสก็มีค่ะ subway ก็มี” และเหน็บแนมการเมืองด้วยท่อน “เสาไฟกินรี ต้นละแสนละซิ รถไฟสมัย ร.5 ใช้มาแล้ว 120 ปี” ก่อนปิดท้ายเด็ดสุดด้วยการโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วง พร้อมถามผู้ชมว่าใครอยากกินบ้าง ถือเป็นการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย จนคนไทยพากันแห่กินข้าวเหนียวมะม่วงตาม ร้านค้าพากันขายดีแบบไม่หวาดไม่ไหว

แต่เธอยังไม่ได้โชว์กินแค่หน้าเวทีเท่านั้น “มิลลิ” ยังไปกินต่อหลังเวที พร้อมทั้งป้อนข้าวเหนียวมะม่วงให้ BIBI ศิลปินชื่อดังชาวเกาหลีใต้ระดับโลกกินด้วย ซึ่งสีหน้าของ BIBI ก็บ่งบอกได้ถึงความประทับใจว่ามันอร่อยจริง แถมเธอยังเอาไปโพสต์ลงใน IG story และ ทวีตบอกชาวโลกต่อว่า “Milli’s mango sticky rice is the bestttt” (ข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิเยี่ยมยอดที่สุด) กระจาย Soft Power ให้ไทยได้อีกต่อ

ฝ่ายค้าน ต้องเปิดกระแส “มิลลิ” ก่อน พร้อมแนะรัฐปรับมุมมอง Soft Power

แน่นอนว่าปรากฏการณ์ ข้าวเหนียวมะม่วง ของ “มิลลิ” ถูกนำมาสู่เรื่องการเมืองด้วย เมื่อพรรคฝ่ายค้านอย่าง ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ได้ออกมาชื่นชม ว่าเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ และถือเป็นความหวังของ Soft Power ไทย

ขณะที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีนี้เช่นเดียวกัน ว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนศิลปะสากล ศิลปะร่วมสมัยด้วย ไม่ใช่แค่ศิลปะดั้งเดิมของไทย รัฐต้องร่วมจับมือกับภาคเอกชนในการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมเพื่อขยายงานออกไป พร้อมยกว่า วงการเพลงไทยในช่วงยุค 80’s และ 90’s เป็นช่วงเวลาที่ ‘ที-ป๊อป’ โดดเด่นอย่างมาก ทั่วเอเชียต่างจับตา เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เกาหลีใต้เองเริ่มก่อร่างสร้าง ‘เค-ป๊อป’ แต่หลังจากปี 2000 ประเทศเกาหลีใต้ได้สร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั่วทวีปเอเชีย สร้าง Soft Power จนวันนี้ก้าวสู่ระดับโลก

“หากประเทศไทยต้องการสร้าง Soft Power สู่ชาวโลกจริงๆ ก็คงต้องปรับมุมคิดเสียใหม่ การสร้าง Soft Power แบบเทพเจ้า และหยุดนิ่งแช่แข็ง ไม่น่าจะใช้ได้กับยุคนี้ ยุคที่โลกเรากำลังมีการเคลื่อนที่ทางวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” ธัญวัจน์ กล่าว

ฝั่งรัฐบาลมาช้าแต่มานะ ขอโหนกระแสด้วย

ส่วนทางรัฐบาลเพิ่งมาตื่นตัวเอาในวันถัดมา คือวันที่ 18 เมษายน 2565 โดยเป็นการชื่นชมจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เอ่ยชื่นชมในนามของกระทรวงพาณิชย์ และกล่าวถึงข้อมูลสถานการณ์การส่งออกข้าวเหนียวและมะม่วงของไทย ที่กระทรวงพร้อมสนับสนุนให้ Soft Power ของไทยไปผงาดในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต โดยเฉพาะอาหารไทย

นอกจากนี้ยังมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่โพสต์ขอบคุณ “มิลลิ” พร้อมแนะนำให้ทานข้าวเหนียวมะม่วงแล้ว อย่าลืมออกกำลังกาย และอย่าลืมข้าวเหนียวทุเรียน

โหนกันต่อด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการออกมาชื่นชมว่า “มิลลิ” ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการบริโภคผลไม้ไทย ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงและชาวนาที่ปลูกข้าวเหนียว พร้อมระบุว่าไทยเป็นผู้ส่งออกมะม่วงสดอันดับหนึ่งของอาเซียน

นายกฯ ขอเคลมกระแส “มิลลิ” ด้วย แต่ขอยกคนอื่นมาอ้างร่วม

ขณะที่ฟากฝั่งตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล คนที่ออกมารับหน้าชื่นชมเรื่องนี้ กลับไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เหมือนทุกครั้ง แต่กลับเป็น นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มองออกว่าเป็นการชื่นชมแบบกระอักกระอ่วน ไม่เหมือนกับนักกีฬาหรือศิลปินคนอื่นๆ ที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศที่มักชื่นชมกันแบบโต้งๆ โควตชื่อกันแบบตรงๆ โดยครั้งนี้มีการยกถึง “ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล” “แบมแบม - กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” “ภูมิ - วิภูริศ ศิริทิพย์” (Phum Viphurit) และวงพาราไดซ์ บางกอก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ไปสร้างชื่อเสียงทำให้วัฒนธรรมและศิลปะด้านดนตรีของไทยได้รับความสนใจในต่างประเทศ โดยระบุว่า

“ส่วนตัวผมมองว่าความสำเร็จไม่ว่าจะเป็น ลิซ่า แบมแบม หรือล่าสุดของศิลปินไทย นางสาวดนุภา คณาธีรกุล (มิลลิ) ศิลปินแร็ปเปอร์สาวของไทยที่ได้ร่วมงานเทศกาลดนตรีและศิลปะ (Coachella) ณ เมืองแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนจบการแสดงได้โชว์การกินข้าวเหนียวมะม่วง โดยเป็นเมนูอาหารไทยที่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นกระแสความสนใจของสื่อโซเชียลทั้งชาวไทยและต่างชาตินั้น เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นอีกหนึ่งศิลปินเยาวชนไทยที่ช่วยส่งเสริม Soft Power ของไทย ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลด้วย”

รัฐบาลมี Soft Power ไทย ด้วยการดันวัฒนธรรม 5F

นอกจากนี้ ยังกล่าวอ้างถึงนโยบายของรัฐบาล ว่า นายกรัฐมนตรี มีนโยบายต่อเนื่องในการสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก โดยมุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5F ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย ได้แก่

1. Food (อาหาร)
2. Film (ภาพยนตร์และวีดิทัศน์)
3. Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย)
4. Fighting (ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย)
5. Festival (เทศกาลประเพณีไทย)

ส่วนนายกฯ กลับให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องข้าวเหนียวมะม่วง ของ “มิลลิ” พูดผิดพูดถูกเป็น SoftWear แทน Soft Power จนสื่อต้องแก้ให้ แต่ไม่วายสั่งในวงครม. ให้ทุกกระทรวงไปสำรวจหา Soft Power ของไทย มาผลักดันเรื่องเศรษฐกิจเชื่อมวัฒนธรรม

“บิ๊กตู่” รับทำงานเยอะจนพลาด ไปฟ้อง “มิลลิ”

ขณะที่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนที่สร้างความตกตะลึงไม่แพ้กันว่า ตนเองได้มีโอกาสเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ มีการพูดคุยกันถึงกรณี “มิลลิ” ที่ไปแสดงงานดนตรีบนเวทีโคเชลลา ว่า “นายกฯ ได้กล่าวชื่นชมที่ช่วยโปรโมตประเทศ ส่วนที่ออกมา Call Out ก่อนหน้านั้น นายกฯ ระบุว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามิลลิ สนใจงานด้านการเมือง และติดตามการทำงานของนายกฯ โดยยอมรับว่าที่ผ่านมานายกฯ ทำงานเยอะ จึงมีข้อผิดพลาด จากนี้ไปจะทบทวนตนเอง พร้อมขอบคุณมิลลิ ที่หวังดีและให้คำแนะนำ”

บทเรียน “มิลลิ” ที่รัฐบาลควรมาฟังเสียงคนรุ่นใหม่

โบราณเขาว่าน้ำเชี่ยวให้รีบตัก เมื่อกระแสมันมาก็ควรรีบคว้าไว้ แม้อาจจะเสียหน้าบ้างก็ตาม แต่อย่าลืมว่าโลกวันข้างหน้ายังต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่

กรณี “มิลลิ” ถือเป็นการสอนรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ในเรื่อง Soft Power ที่ทำอย่างไรให้ไปให้ถึงโลก แค่ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ระดับโลกแค่ครั้งเดียว แต่กลับช่วยโปรโมตประเทศ ช่วยเกษตรกร กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แบบที่รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินประชาสัมพันธ์ทำแคมเปญแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งยังเป็นคนที่ตัวเองเคยแจ้งความฐานหมิ่นประมาทมาด้วย

เด็กมันก็บอกอยู่ว่าไม่ได้ชังชาติ แต่ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เพราะรักประเทศไทยเว่อร์ๆ ด้วยซ้ำ อยากเห็นแข่งสู้กับประเทศอื่นๆ ได้

ดังนั้น เป็นรัฐบาลยุคนี้ต้องใจกว้างๆ และต้องกล้าวิ่งตามเทรนด์โปรโมตให้ทันโลกถึงจะรอด ส่วนเกาหลีใต้ที่มาถึงวันนี้ได้ ไม่ได้เพราะโชคช่วย แต่มันก็เริ่มมาจากการประท้วงกระตุ้นรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วมาเหมือนกัน และที่สำคัญเขาให้เสรีวงการบันเทิงเต็มที่โดยไม่มีการเซนเซอร์แบบโลกสวย.

ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : Anon Chantanant