ดีอีเอส จับมือ สกมช. ย้ำ เว็บไซต์ ป.ป.ช. ไม่ได้ถูกแฮก ยืนยัน ระบบป้องกันข้อมูลรัฐดีและปลอดภัย ชี้ข้อมูลที่รั่วไหลออกไปเป็นข้อมูลที่ ป.ป.ช.เปิดเผยอยู่แล้วตามกฎหมาย

วันที่ 21 เมษายน 2565 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม ร่วมกับ พลเอกปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและผู้อำนวยการศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ แถลงข่าว เรื่องเว็บไซต์สํานักงาน ป.ป.ช.มีข้อมูลรั่วไหล

โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากเหตุการณ์กรณีที่มีนําเสนอข่าว มีข้อมูลทรัพย์สิน 780 บัญชี-เรื่องชี้มูล 1,366 คดี รั่วไหลไปยังเว็บไซต์ของหน่วยงานอื่นของภาคเอกชน ซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดว่าเว็บไซต์ถูกแฮก ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบแล้วพบว่า เรื่องนี้ไม่ได้ถูกแฮก ไม่ได้ถูกโจมตี ระบบของป.ป.ช.ยังมีความมั่นคงปลอดภัย โดยข้อมูลที่รั่วไหลออกไปเป็นข้อมูลที่ ป.ป.ช.เปิดเผยอยู่แล้วตามกฎหมาย บัญชีทรัพย์สิน ข้อมูลมติชี้มูลความผิดซึ่ง ป.ป.ช.เปิดเผยอยู่แล้ว แต่มีบุคคลบางกลุ่มนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ของกลุ่มบุคคลนั้นซึ่งทำให้เกิดความสับสน ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน บิดเบือน เปลี่ยนแปลง ทาง ป.ป.ช.จึงได้มีการแจ้งเตือนไม่ให้นำข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวไปใช้ ให้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.เท่านั้นเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่ได้ถูกแฮก หรือโจมตี

...

ด้านรองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในกรณีต่างๆ เราได้ตรวจสอบพบเจอเหตุการณ์นี้ครั้งแรก วันที่ 13 มกราคม 2565 และหลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับทาง ป.ป.ช.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าจากข้อมูลที่พบเจอนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว ยืนยันว่าตัวเว็บรวมทั้งระบบต่างๆ ของ ป.ป.ช.ยังมีความมั่นคงปลอดภัย แต่ในสิ่งที่ถูกสื่อออกไปว่ามีการถูกแฮกนั้นมันไปเกิดขึ้นกับตัวระบบของหน่วยงานอื่นที่ได้ดูดข้อมูลนี้ไปแล้วก่อให้เกิดการเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นในส่วนประเด็นนี้คือตัวองค์กรที่เกี่ยวข้องยังมีความมั่นคงปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรก็ตามทาง สกมช. กับทาง ดีอี ก็จะเตรียมการและเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งประเด็นนี้และก็ประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคต

นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อจากนี้หากทางหน่วยงาน หรือประชาชนถูกโจมตีหรือมีปัญหาถูกแฮกต่างๆ สามารถติดต่อเข้ามาได้ทางศูนย์เตือนภัยเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เจ้าหน้าที่ NCERT และ ncsa.or.th เรามีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน และคอยช่วยประสานงานอยู่ตลอดเวลา.